ธันวาคม 2563
“เครื่องดื่มชาชง” เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของโลก และชาชงในประเทศไทยติดอันดับสามของอาเซียน ชาที่นิยมปลูกมี 2 ชนิด คือ 1. ชาจีน นิยมนำมาผลิตเป็นชาอู่หลง ชาเขียว และชาแดง (ชาฝรั่ง) 2. ชาสายพันธุ์อัสสัม (ชาวบ้านเรียกว่า “ต้นเมี่ยง”) นิยมนำมาผลิตเป็นชาดำ ชาเขียว และชาไทย การปลูกชาสายพันธุ์อัสสัมในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่าการปลูกชาสายพันธุ์จีน โดยตั้งแต่ปี 2558 – 2562 ผลผลิตชาสายพันธุ์อัสสัมมีมากกว่า ร้อยละ 90 ของผลผลิตทั้งหมด จากปริมาณที่ผลิตได้ 93,875 ตัน ในขณะที่ผลิตชาจีนได้ 9,039 ตัน คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 ของผลผลิตชาทั้งหมด ทั้งนี้ ผลผลิตชารวมในปี 2562 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 10.6 ผลิตภัณฑ์ชาตามท้องตลาดที่แปรรูปมาจากชาในประเทศไทยนั้น เป็นชาที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยปลูกมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย รองลงมา ได้แก่ เชียงใหม่ แพร่ น่าน และแม่ฮ่องสอน เป็นต้น และสามารถปลูกแบบอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันกระแสความนิยมบริโภคสินค้าปลอดภัย ไม่ปรุงแต่งมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันไทยสามารถปลูกชาในระดับอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากการส่งเสริมการปลูกและการแปรรูปจากภาครัฐ จำนวนพื้นที่ไร่ชาภาคเหนือมีจำนวนมาก และที่ผ่านมามีการผลิตเพื่อส่งขายจีนเป็นวัตถุดิบ รวมถึงชาสำเร็จรูปส่งออกไปไต้หวัน และชาราคาเกรดทั่วไปส่งขายให้กับร้านชาในประเทศ ดังนั้น อุตสาหกรรมเครื่องดื่มชาชงในประเทศไทย จึงเป็นลักษณะรับจ้างผลิต หรือ โออีเอ็ม (OEM) เป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการสร้างแบรนด์สินค้าเครื่องดื่มชาชงของคนไทยมากขึ้น และมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น จึงมีโอกาสในการขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
download PDF ย้อนกลับ