กันยายน 2561
อินโดนีเซียเป็นตลาดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้ส่งออกทั่วโลก จากจำนวนประชากรในประเทศที่มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจหลัก อาทิ จาการ์ตา บาหลี สุราบายา เมดาน และบันดุง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าภาคการผลิตสินค้าอาหารของอินโดนีเซียยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศ ซึ่งสังเกตได้จากมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารที่สูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะกลุ่มซอสและเครื่องปรุงรส ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าซอสและเครื่องปรุงรสเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย
สถานการณ์ตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในอินโดนีเซีย
ตลาดซอสและเครื่องปรุงรสในอินโดนีเซียมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 อินโดนีเซียมีปริมาณการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวภายในประเทศรวม 588,700 ตัน มูลค่า 17,685.8 ล้านรูเปียห์ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.9 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 11.3 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2556-2560) (รูปที่ 1) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมการรับประทานของชาวอินโดนีเซียที่ชื่นชอบการเติมเครื่องปรุง โดยเฉพาะซอสบนโต๊ะอาหาร อาทิ ซีอิ๊วหวาน และซอสพริก ในอาหารที่พวกเขารับประทานประจำวัน แม้ว่าชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะนิยมซอสพริกที่ปรุงเองแบบสดใหม่ แต่จากวิถีชีวิตที่เร่งรีบและไม่มีเวลามากนักในการเตรียมอาหาร ส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียบางส่วนหันมาเลือกรับประทานซอสแบบบรรจุเสร็จเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การขยายตัวของร้านอาหารชาติตะวันตกในอินโดนีเซียยังทำให้พวกเขาเปิดรับวัฒนธรรมอาหารต่างชาติมากขึ้น และเริ่มคุ้นเคยกับอาหารที่เสริฟพร้อมกับมายองเนสด้วยเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้มายองเนสเป็นชนิดสินค้าที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.6 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 14.7 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ตามด้วยซอสมะเขือเทศ และน้ำสลัด มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 และ 8.8 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 13.5 และ 13.8 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ตามลำดับ
download PDF ย้อนกลับ