สวัสดี

ตลาดอาหารพร้อมรับประทานในญี่ปุ่น

แชร์:
Favorite (38)

กันยายน 2560

แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะสามารถผลิตอาหารได้หลากหลายชนิด แต่ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถผลิตอาหารให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของคนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประชากรประมาณ 126.7 ล้านคน โดยเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพลังงานที่ควรได้รับในแต่ละวัน จะเห็นได้ว่า ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของญี่ปุ่น (food self-sufficiency rates) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 73 ในปี 2508 ลดลงเหลือ ร้อยละ 39 ในปี 2558 นั่นหมายความว่า ชาวญี่ปุ่นสามารถรับประทานอาหารที่ผลิตได้เองในประเทศลดลง ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปของผลผลิตวัตถุดิบ และอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน

สถานการณ์ตลาดอาหารพร้อมรับประทานในญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทานในญี่ปุ่นมีทิศทางการเติบโตที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ 1.6 ล้านตัน มูลค่า 1,885.7 พันล้านเยน หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 3.7 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2555-2559) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ส่งผลให้พวกเขาต่างมองหาความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น นอกจากนี้จำนวนผู้หญิงทำงานนอกบ้านและครอบครัวคนโสดที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นความต้องการสินค้าอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้นในตลาดญี่ปุ่น ส่งผลให้บรรดาผู้ผลิตต่างพัฒนาสินค้ารูปแบบต่าง ๆ ที่ตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคเหล่านี้ เช่น อาหารที่มีขนาดบริโภคสำหรับคนเดียว หรืออาหารที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นสำหรับกลุ่มผู้บริโภคชายโสด

ในปี 2559 อาหารพร้อมรับประทานแช่เย็นเป็นรูปแบบอาหารที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุด ร้อยละ 77.6 และ 81.6 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารพร้อมรับประทานทั้งหมดในญี่ปุ่น ในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ตามลำดับ   ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งก็เป็นอีกรูปแบบที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความหลากหลายของสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน  โดยชาวญี่ปุ่นยังคงนิยมรับประทานอาหารของชนชาติตนเองมากที่สุด มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 65.8 และ 76 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารพร้อมรับประทาน แบบแช่เย็น และแบบแช่แข็ง ทั้งหมดในญี่ปุ่น ตามลำดับ (รูปที่ 1)  รองลงมาได้แก่ อาหารอิตาเลี่ยนจำพวกพาสต้าต่าง ๆ และอาหารจีน โดยเฉพาะข้าวผัดสไตล์จีน ซึ่งมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบรรดาผู้ผลิตทั้งหลายมีการพัฒนาสินค้าระดับพรีเมี่ยมออกสู่ตลาด เช่น อาหารจานเส้นพร้อมรับประทานแช่แข็งที่มีปริมาณบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายหลัก นั่นคือ กลุ่มผู้ชายญี่ปุ่นที่ต้องการซื้ออาหารมื้อเย็นกลับไปรับประทานที่บ้านจากร้านค้าสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ระหว่างเดินทางกลับหลังเลิกงาน 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101