สวัสดี

ตลาดขนมอบในประเทศไทย

แชร์:
Favorite (38)

กันยายน 2559

ในปี 2558 ที่ผ่านมา ตลาดขนมอบในประเทศไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 8.1 จากปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 25,800 ล้านบาท สาเหตุที่ตลาดขนมอบมีการเติบโตขึ้นทุกปีมาจากความต้องการบริโภคอาหารอย่างเร่งด่วน เนื่องจากวิถีชีวิตที่รีบเร่งของผู้บริโภคทำให้มีเวลาที่จะทำอาหารรับประทานเองหรือมีเวลารับประทานอาหารน้อยลง ผู้บริโภคจึงหันมาเลือกรับประทานขนมอบเป็นอาหารเช้าและเป็นอาหารว่างในตอนกลางวัน เพราะขนมอบ เช่น ขนมปัง เค้ก และเพสตรี เป็นอาหารที่รับประทานง่ายและสะดวกที่จะพกติดตัวไปรับประทานนอกสถานที่ อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงและหาซื้อง่าย ทำให้ขนมอบสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคมีความซับซ้อนในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีความต้องการรับประทานขนมอบในรูปแบบและรสชาติที่แตกต่างไปจากเดิม ทำให้ผู้นำตลาดขนมอบทั้งจากในประเทศและต่างประเทศมีความกระตือรือร้นที่จะนำเสนอรสชาติและส่วนผสมที่แปลกใหม่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า และเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้นำตลาดขนมอบยังมีการนำเสนอสินค้าในราคาที่หลากหลายตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงระดับพรีเมี่ยมเพื่อจับกลุ่มผู้บริโภคทุกระดับรายได้ การปรับปรุงพัฒนาสินค้าในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้นตลาดขนมอบให้เติบโตมากยิ่งขึ้น

ขนมปังบรรจุหีบห่อเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มขนมอบ เติบโตร้อยละ 6 จากปี 2557 โดยมีขนมปังขัดขาวเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มขนมปังบรรจุหีบห่อ อย่างไรก็ตาม ขนมปังธัญพืชซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มขนมปังบรรจุหีบห่อกลับมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพในกลุ่มผู้บริโภคในเมือง ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุภาพมากขึ้น จึงมองว่าขนมปังธัญพืชเป็นทางเลือกในการบริโภคที่ดีกว่าขนมปังขัดขาว ผู้ผลิตจึงมองเห็นโอกาสและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยการเพิ่มส่วนผสมที่มีประโยชน์เข้าไปในขนมปังเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มนี้ เช่น งา ถั่ว ข้าวโอ๊ต และน้ำผึ้ง เป็นต้น

เพสตรีบรรจุหีบห่อเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มขนมอบ โดยเติบโตขึ้นร้อยละ 11.0 จากปี 2557เนื่องจากเพสตรีเป็นขนมที่สะดวกในการรับประทานและสามารถเป็นอาหารทดแทนมื้ออาหารตามปกติของผู้บริโภคได้ จึงตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่รีบเร่งของคนในเมือง โดยเฉพาะการซื้อเพสตรีมารับประทานในรถในช่วงเวลาที่เร่งด่วนหรือในช่วงรถติดเพื่อเป็นการประหยัดเวลา

ผู้นำตลาดขนมอบในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 28.5 โดยมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Farmhouse ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเบเกอรี่ที่หลากหลาย เช่น ขนมปังแผ่น เบอร์เกอร์ ขนมปังฮอทดอก และเค้ก เป็นตัวผลักดันยอดจำหน่ายของบริษัท สินค้าหลักของ Farmhouse ได้แก่ ขนมปังแผ่น และขนมปังพร้อมรับประทาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทคิดเป็นร้อยละ 70.0 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท จุดแข็งของบริษัทอยู่ที่ชื่อเสียงที่มีมาอย่างยาวนาน ทำให้ผู้บริโภครับรู้เกี่ยวกับสินค้าของบริษัทได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทยังได้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองกับความต้องการผู้บริโภค เช่น การออกผลิตภัณฑ์ Royal Whole Wheat ขนมปังโฮลวีตที่ใส่ส่วนผสมของธัญพืชเข้าไปเพื่อจับกลุ่มคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ อีกทั้งบริษัทยังมีการขยายกำลังการผลิตและการจัดจำหน่ายให้มากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าของบริษัทได้สะดวกมากขึ้น

อันดับที่ 2 ได้แก่ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 11.0 และเป็นบริษัทที่มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่ม โดยมีแบรนด์ Le Pan เป็นแบรนด์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดของบริษัท บริษัทมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องโดยมองหาความแปลกใหม่ เช่น รสชาติใหม่หรือเนื้อสัมผัสใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความแปลกใหม่ในตัวสินค้า ส่วนอันดับที่ 3 ได้แก่ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.7 บริษัทมีสินค้าในกลุ่มเบเกอรี่ที่หลากหลายภายใต้แบรนด์ S&P เช่น ขนมปัง เค้ก และบิสกิต โดยสินค้ามีวางจำหน่ายทั้งร้านอาหาร S&P ร้านเบเกอรี่ S&P และช่องทางค้าปลีกต่างๆ บริษัทได้นำเสนอสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังดำเนินการขยายสาขาทั้งร้านอาหารและร้านเบเกอรี่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด

ผู้ผลิตในประเทศมีความคุ้นเคยกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอย่างดี ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากว่าผู้ผลิตจากต่างประเทศ ผู้ผลิตในประเทศจึงสามารถครองส่วนแบ่งหลักของตลาดขนมอบในไทย นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยของสินค้าได้ เนื่องจากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงสามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ถูก ซึ่งดึงดูดผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคาได้เป็นจำนวนมาก ส่วนผู้เล่นจากต่างประเทศจะจับกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางถึงบนซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย จึงจำกัดศักยภาพในการเติบโต นอกจากนี้ กลุ่มขนมอบที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อมีการเติบโตมากกว่ากลุ่มขนมอบที่บรรจุหีบห่อ เพราะมีปัจจัยส่งเสริมจากการเพิ่มจำนวนของร้านเบเกอรี่และร้านกาแฟในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมองว่าขนมอบไม่บรรจุหีบห่อมีส่วนผสมที่มีคุณภาพดีและอุดมไปด้วยสารอาหาร อีกทั้งยังทำสดใหม่ทุกวัน จึงเป็นจุดแข็งที่ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อขนมอบไม่บรรจุหีบห่อกันมากขึ้น

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527