สวัสดี

โอกาสผลไม้ไทยในตะวันออกกลางและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

แชร์:
Favorite (38)

กรกฎาคม 2559

การเพาะปลูกผลไม้ในตะวันออกกลาง ประเทศที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค คือ อิหร่าน ในขณะที่ UAE โอมาน คูเวต การ์ตา บาห์เรน นั้นเพาะปลูกผลไม้ได้น้อยมากที่สำคัญมีเพียงชนิดเดียวคืออินทผลัม แต่ก็มีปริมาณไม่เพียงพอบริโภคในประเทศ ขณะที่ซาอุดิอาระเบียและประเทศในตะวันออกกลางอื่นๆ สามารถเพาะปลูกผลไม้ได้บ้างและมีความหลากหลายพอสวมควร เช่น ส้ม แทนเจอรีน เกรปฟรุต องุ่น เมล่อน เป็นต้น แต่ก็ยังมีผลผลิตค่อนข้างน้อย ต้องพึ่งพาการนำเข้าเช่นกัน รายละเอียดปริมาณผลผลิตผลไม้ที่สำคัญของแต่ละประเทศดังแสดงในภาคผนวก

       ผลไม้เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าในปริมาณมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเนื่องจากคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ผักผลไม้สดจึงเป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับความนิยม ในปี 2557 มูลค่าการนำเข้าผลไม้ของ UAE ยู่ที่ 1,435.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณร้อยละ 9.4 ของมูลค่าการนำเข้าอาหารทั้งหมด และพบว่ามีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 19.39 ต่อปี ผลไม้ที่มีการนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ส้ม แอปเปิล แพร์ อินทผลัม องุ่น กล้วย สับปะรด มะม่วง เป็นต้น

      สภาพความแห้งแล้งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำเกษตรกรรมของประเทศ รัฐบาลให้การสนับสนุนการทำเกษตรกรรมในประเทศหลายช่องทาง เริ่มจากให้การสนับสนุนนักลงทุน ด้วยการไม่เก็บภาษีนำเข้าผลผลิตที่มีการควบคุมคุณภาพ ปลอดโรคและแมลง สนับสนุนเทคโนโลยีการเกษตร และอำนวยความสะดวกด้านระบบชลประทานให้กับเกษตรกรในประเทศ โดยมีศูนย์บริการเกษตรกรของรัฐอาบูดาบี (Abu Dhabi Farmers’ Services Centre: ADFSC) เป็นหน่วยงานที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลของรัฐอาบูดาบีในการปฏิรูปหลักการและวิธีการที่ดีในการทำเกษตรกรรม

        อาหารอินทรีย์และฟาร์มเกษตรอินทรีย์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เติบโตและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรของประเทศที่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยฟาร์มเกษตรอินทรีย์ใน UAE ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐดูไบและรัฐอาบูดาบี สามารถปลูกผักและผลไม้ได้มากกว่า 70 ชนิด เช่น แครอต บีทรูต ผักใบเขียว ผักโขม ส้ม แตงโม ทับทิม สตรอเบอร์รี่ และมะม่วง

          การบริโภคผลไม้สดของชาวอาหรับนั้นแทบจะเป็นของคู่กันในมื้ออาหาร นอกจากนี้ นักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน UAE ก็มีพฤติกรรมที่ต้องรับประทานผลไม้ด้วยในแต่ละวัน ทำให้ UAE มีความต้องการนำเข้าผลไม้สดจำนวนมากในแต่ละปี ตลาดอาหารของประเทศ UAE เผชิญกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขายอาหารสด รวมทั้งปริมาณการขายของร้านอาหารและร้านอาหารจานด่วน ปริมาณการขายอาหารสดของ UAE คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.8 ล้านตันในปี 2558 ไปถึงประมาณ 3,600,000 ตันในปี 2562 การเติบโตของธุรกิจบริการอาหารมีส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดผลไม้สดด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะมองหาผลไม้สดที่มีคุณภาพดีและดีต่อสุขภาพมากขึ้น

         ในปี 2558 ที่ผ่านมาไทยส่งออกผลไม้เมืองร้อน(tropical fruits) 1.14 ล้านตัน มูลค่า 32,292.81 ล้านบาท  ตลาดส่งออกที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย เมียนมาร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ เป็นต้น การส่งออกผลไม้เมืองร้อนไปตะวันออกกลางนั้นยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก มีมูลค่าเพียง 717.58 ล้านบาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.22 ของมูลค่าส่งออกเท่านั้น ส่วนการส่งออกผลไม้เมืองร้อนไป UAE นั้น ปี 2558 ไทยส่งออกปริมาณ 5,074.28 ตัน มูลค่า 436.14 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.78 ของมูลค่าส่งออกผลไม้เมืองร้อนไปตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ผลไม้ส่งออกที่สำคัญในตลาดตะวันออกกลางและ UAE  อันดับ 1 ได้แก่ เงาะ รองลงมาคือมังคุด ลำไย มะขามหวาน มะม่วง ลิ้นจี่ รายละเอียดมูลค่าส่งออกดังภาพที่ 1

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101