สวัสดี

ตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทย

แชร์:
Favorite (38)

เมษายน 2559

บทนำ การดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่ผ่านมาค่อนข้างมาก กล่าวคือ นิยมอาศัยในห้องพัก/คอนโดมิเนียมย่านใจกลางเมืองหรือใกล้ที่ทำงานซึ่งไม่เหมาะสำหรับประกอบอาหาร ครอบครัวสมัยใหม่ทำงานนอกบ้านทั้งสามีและภรรยา ใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบต้องการความรวดเร็วและสะดวกสบาย

อาหารสำเร็จรูปจึงสามารถสนองตอบต่อวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอาหารแช่แข็งซึ่งมีความได้เปรียบในด้านอายุการเก็บรักษา และในปัจจุบันผู้บริโภคต่างคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งและยอมรับในเรื่องคุณภาพมาตรฐาน ประกอบกับการขยายสาขาของร้านสะดวกซื้อทำให้อาหารแช่แข็งสามารถหาซื้อได้ง่าย ขณะที่ผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภค ส่งผลให้ตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 9.8 ต่อปี โดยปี 2558 มีมูลค่า 15,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ 10,800 ล้านบาท

ตลาดอาหารแช่แข็งในประเทศไทยมีผู้นำตลาดไม่มากนักซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหาร จึงได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพและมาตรฐานจากผู้บริโภคชาวไทย โดย “บริษัท เจริญ  โภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)” ครองส่วนแบ่งร้อยละ 34.3 ของมูลค่าตลาดอาหารแช่แข็ง เป็นผู้นำตลาดในผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและเนื้อไก่แปรรูปแช่แข็ง โดยมีความได้เปรียบคู่แข่งขันรายอื่นด้านช่องทางการกระจายสินค้าที่มีทั้งเซเว่นอีเลฟเว่นและซีพีเฟรชมาร์ท รองลงไป คือ “บริษัทเอสแอนด์พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน)” ครองส่วนแบ่งร้อยละ 15.6 มีความได้เปรียบจากความภักดีของผู้บริโภคต่อตราสินค้า “S&P” ซึ่งมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคด้านรสชาติ “บริษัท สุรพลฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)”    ครองส่วนแบ่งร้อยละ 14.2 ส่วนใหญ่เป็นอาหารว่างอย่างติ่มซำ ขนมจีบ ซาลาเปา และ “บริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด” ครองส่วนแบ่งร้อยละ 12.8 มีชื่อเสียงด้านอาหารทะเลแช่แข็ง ที่เหลือร้อยละ 23.1 มีหลายราย เช่น บริษัท ไทยอกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) จำหน่ายอาหารว่างและขนมไทยแช่แข็งอย่างปอเปี๊ยะ ซาโมซ่า เกี๊ยวซ่ากุ้ง    บัวลอยงาดำ บริษัท อัลเฟรโด เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด จำหน่ายพิซซ่าและแซนวิชแช่แข็ง บริษัท ลัคกี้ยูเนี่ยนฟู้ดส์ จำกัด จำหน่ายอาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งจากเนื้อปลาบดหรือซูริมิ เป็นต้น

อาหารแช่แข็งที่มีจำหน่ายในประเทศไทยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทได้ ดังนี้

1. อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Ready to eat)

อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองเป็นอย่างดี ด้วยความสะดวกรวดเร็ว เพียงนำไปอุ่นร้อนก็สามารถรับประทานได้ทันที อีกทั้งปัจจุบันราคาไม่แตกต่างจากอาหารจานเดียวมากนัก ประกอบกับหาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปตามแหล่งชุมชนต่างๆ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ หรืออาหารเจในเทศกาลกินเจ เป็นต้น รวมถึง  การพัฒนารายการอาหารใหม่ๆ ให้มีรสชาติใกล้เคียงกับอาหารปรุงใหม่ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย เปิดปิดง่าย สะดวกสบาย เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด คือ ร้อยละ 33.3 ของมูลค่าตลาดอาหารแช่แข็งทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 5,230 ล้านบาท ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.6 ต่อปี

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527