12 กุมภาพันธ์ 2559
ชื่อเรื่อง: การป้องกันการเน่าเสียและการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดความชื้นสูงโดยการปรับสภาพบรรยากาศ
ผู้วิจัย/ผู้เรียบเรียง: วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ และวันเพ็ญ ศรีทองชัย
คณะทำงาน/อาจารย์ที่ปรึกษา: วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ และวันเพ็ญ ศรีทองชัย
ที่มา:งานวิจัยเรื่องการป้องกันการเน่าเสียและการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดความชื้นสูงโดยการปรับสภาพบรรยากาศศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และกองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ปี 2543
แหล่งสืบค้นฉบับเต็ม: ห้องสมุดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
กลุ่มสินค้า: 1531 ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช
เทคโนโลยี: เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
Keyword: ข้าวโพด อะฟลาทอกซิน ปรับสภาพบรรยากาศ ความชื้นสูง
การป้องกันการเน่าเสียและการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน ในข้าวโพดความชื้นสูงโดยการปรับสภาพบรรยากาศ
การปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตข้าวโพดของประเทศไทย โดยพบว่าปัญหาการปนเปื้อนส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งปริมาณของสารอะฟลาทอกซินจะสูงขึ้นมากอย่างผิดปกติในช่วงที่ข้าวโพดอยู่ในลานตากของพ่อค้าท้องถิ่น ทั้งนี้เนื่องจากการเก็บเกี่ยวและการจำหน่ายข้าวโพดส่วนใหญ่อยู่ในช่วงฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) ทำให้การลดความชื้นโดยวิธีการตากแดดบนลานคอนกรีตของพ่อค้าท้องถิ่นประสบปัญหา จำเป็นต้องกองข้าวโพดไว้เป็นเวลาหลายวัน โดยไม่สามารถทำการลดความชื้นได้ ประกอบกับเมล็ดบางส่วนมีรอยแตกอันเป็นผลมาจากการกะเทาะ ทำให้เชื้อ จุลินทรีย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อรา Aspergillus flavus สามารถเข้าทำลายเมล็ดข้าวโพดภายในกองได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ข้าวโพดเน่าเสียและผลิตสารอะฟลาทอกซินได้ภายในเวลา 48 ชั่วโมง
การปรับสภาพบรรยากาศ (modified atmosphere) ให้ความเข้มข้นของก๊าซออกซิเจนลดลง โดยการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมการเจริญของเชื้อรา Aspergillus flavus และป้องกันการเกิดสารอะฟลาทอกซินในข้าวโพดได้
ดังนั้นการทดลองครั้งนี้ จึงได้ทำการศึกษาและพัฒนาวิธีการเก็บรักษาข้าวโพดที่มีความชื้นสูงเป็นการชั่วคราว โดยการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปรับสภาพบรรยากาศในกองข้าวโพด เพื่อป้องกันการเน่าเสียและการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน
จากการศึกษาและพัฒนาวิธีเก็บรักษาข้าวโพดความชื้นสูง (ประมาณ 24-34%) เป็นการชั่วคราว โดยการปรับสภาพบรรยากาศภายในกอง เพื่อป้องกันการเจริญของเชื้อรา Aspergillus flavus และการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซิน โดยทำการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ และโกดังของพ่อค้าท้องถิ่น อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ระหว่างปี 2534-2540 พบว่า การเก็บข้าวโพดด้วยวิธีการปรับสภาพบรรยากาศภายในกองข้าวโพดที่คลุมด้วยผืนพลาสติก โดยการรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.5 กิโลกรัม/เมล็ด 1 ตัน หรือโดยการใช้เครื่องดูดอากาศดูดอากาศภายในกองออกก่อน แล้วรมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อัตรา 0.3 กิโลกรัม/เมล็ด 1 ตัน ภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงหลังการกะเทาะ สามารถรักษาคุณภาพของข้าวโพดจากการเข้าทำลายของเชื้อรา และการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินได้ 10 วันเป็นอย่างต่ำ โดยคุณภาพของเมล็ดไม่เปลี่ยนแปลง คือยังคงมีสีเหลืองส้ม เป็นมัน และเลื่อนไหลเป็นปกติ อุณหภูมิภายในกองข้าวโพดและปริมาณการปนเปื้อนของสารอะฟลาทอกซินไม่เพิ่มขี้น แต่เมล็ดมีกลิ่นเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งจะหายไปหลังตากแดด