12 กุมภาพันธ์ 2559
ชื่อเรื่อง: การตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงโดยเชื้อรา Colletotrichumgloeosporioides ในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้ paraquat
ผู้วิจัย/ผู้เรียบเรียง: ศุภาลักษณ์ โตสุขเจริญกุล และสมศิริ แสงโชติ
คณะทำงาน/อาจารย์ที่ปรึกษา: ศุภาลักษณ์ โตสุขเจริญกุล และสมศิริ แสงโชติ
ที่มา:งานวิจัยเรื่องการตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงโดยเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้ paraquat ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แหล่งสืบค้นฉบับเต็ม: ห้องสมุดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพมหานคร
กลุ่มสินค้า: 1513 ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้
เทคโนโลยี: เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
Keyword: มะม่วงน้ำดอกไม้ เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides การเข้าทำลายแบบแฝง
การตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงโดยเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides
ในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยวโดยใช้ paraquat
มะม่วงเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย แต่มักพบปัญหาว่าผลิตผลของมะม่วงเกิดการเน่าเสีย เนื่องจากจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุโรคพืช ซึ่งเกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ซึ่งเป็นเชื้อราที่สามารถทำให้เกิดโรคขึ้นได้กับทุกระยะการเจริญเติบโตของผลมะม่วง โดยทั่วไปแล้วการติดเชื้อนี้จะเกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาของผลมะม่วงแต่อยู่ในลักษณะของการเข้าทำลายแบบแฝงก่อนที่ผลจะสุก ซึ่งจะยังไม่แสดงอาการของโรค แต่จะเริ่มมีการพัฒนาเป็นอาการของโรคแอนแทรคโนสเมื่อผลมะม่วงเริ่มสุกภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับผลิตผลได้อย่างมาก
การพัฒนาการตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงของเชื้อรา เพื่อให้สามารถคาดการณ์การเข้าทำลายแบบแฝงที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า สำหรับการวางแผนเพื่อการดำเนินการในการควบคุมโรคก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว Paraquat treated เป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝง ในงานวิจัยนี้จึงทดสอบความเหมาะสมของ paraquat เพื่อใช้ในการตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุของโรคแอนแทรคโนสบนผลมะม่วงน้ำดอกไม้
การตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงที่เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ในผลมะม่วงหลังการเก็บเกี่ยว เริ่มต้นโดยทำการเพาะเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides ความเข้มข้นประมาณ 106 สปอร์/มิลลิลิตร ลงบนผลมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ทำการสุ่มเก็บผลมะม่วงระยะแก่เต็มที่ (ผิวผลยังเขียว) จากนั้นนำไปบ่มเชื้อที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมผัส 100% เป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง แล้วใช้สารละลาย paraquat (1,1' - dimethyl - 4,4' - bipyridium ion 20% w/v) ที่ละลายในน้ำกลั่นนึ่งฆ่าเชื้อในอัตราส่วน 50,000 ppm ทาบริเวณที่เพาะเชื้อ และรอให้แห้งเป็นเวลา 46-60 วินาที จากนั้นนำผลมะม่วงมาบ่มเชื้อภายใต้แสงในที่ชื้น ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เมื่อนำผลมะม่วงดังกล่าวมาตรวจสอบส่วนของเชื้อโดยตรง โดยการใช้สารเคมี paraquat และโดยวิธี tissue transplanting บนอาหาร PDA เพื่อเปรียบเทียบกัน พบว่า สารละลาย paraquat สามารถนำมาใช้เป็นสารฆ่าเซลล์ผิวของมะม่วงเพื่อใช้ตรวจสอบการเข้าทำลายแบบแฝงบนผลมะม่วงได้ภายใน 4 วัน โดยที่ตรวจสอบ acervulus ได้ถึง 95% ส่วนการตรวจโดยวิธี tissue transplanting นั้นตรวจพบเชื้อได้ในวันที่ 7 ซึ่งช้ากว่าการใช้สาร paraquat ถึง 3 วัน