20 มกราคม 2559
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาโดแช่เย็นให้มีความแข็งแรงโดยไข่ขาวและเวย์โปรตีน
ผู้วิจัย/ผู้เรียบเรียง : นายกณพ ศรีอาวุธ , นางสาวนงลักษณ์ โคตรสมบัติ
คณะทำงาน/อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.วรนุช ศรีเจษฎารักข์
ที่มา : รายงานสัมมนาเรื่อง การพัฒนาโดแช่เย็นให้มีความแข็งแรงโดยไข่ขาวและเวย์โปรตีน ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2544
แหล่งสืบค้นฉบับเต็ม : ห้องสมุดกลาง มหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มสินค้า : 1541 ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่
เทคโนโลยี : เทคนิคการบริหารจัดการอื่นๆ
Keyword : โด ไข่ขาว เวย์โปรตีน
การพัฒนาโดแช่เย็นให้มีความแข็งแรงโดยไข่ขาวและเวย์โปรตีน
การดำรงชีวิตของคนไทยในปัจจุบันมีความเร่งรีบผลิตภัณฑ์เบเกอรี่เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งที่สามารถ
ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการอาหารที่สดใหม่ โด (Dough) สำเร็จรูปแช่เย็นจึง
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค เพราะสามารถเก็บรักษาและมีการกระจายสินค้าได้มากขึ้น
ในระหว่างการเก็บรักษาโดยการแช่แข็งกลูเตนจะมีความอ่อนแอลงเพราะความเย็นไปทำลายพันธะ
ไดซัลไฟด์ทำให้คุณภาพของโดเสียไป จึงได้มีการพัฒนาโดให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยทำการทดลอง
เบื้องต้น เพื่อศึกษาหาอัตราส่วนที่เหมาะสมของสารให้ความแข็งแรงคือ Whey Protein Concentrate (WPC):
ไข่ขาว ที่ระดับ 5 การทดลอง (100:0, 75:25, 50:50, 25:75, 0:100) เติมในปริมาณ 3% ในสูตรขนมปัง พบว่า
อัตราส่วนที่เหมาะที่สุด คือ 75:25 ที่ทำให้ขนมปังมีความแข็งแรงแต่ลักษณะเนื้อสัมผัสยังไม่เป็นที่น่าพอใจ
จึงทำการทดลองขั้นต่อไปเพื่อศึกษาระดับการเติมสารให้ความแข็งแรงที่เหมาะสม โดยทดลองการเติมที่
ระดับ 1%, 2% และ 3% และเปรียบเทียบกับสูตรที่ไม่มีการเติมสารเพิ่มความแข็งแรง แล้วนำมาทดสอบคุณ
สมบัติทางเคมีกายภาพในวันที่ 1, 5, 6 และ 7 และทำการทดสอบความชอบของวันที่ 7 พบว่าโดมีการเติม
สารให้ความแข็งแรงที่ระดับ 3% ให้ค่าเฉลี่ยของ pH และปริมาตรจำเพาะที่สูงที่สูดโดยมีค่า pH = 5.62 และ
ค่าปริมาตรจำเพาะ = 4.56 ลบ.ซม./กรัม แต่จะไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p>0.05) กับตัวอย่างที่มี
การเติมในระดับ 2% ซึ่งมีค่า pH = 5.60 และค่าปริมาตรจำเพาะ = 4.55 ลบ.ซม./กรัม ส่วนด้านความนุ่มวัด
จากค่าแรงที่ใช้ในการกดชิ้นขนมปังพบว่า ขนมปังที่ไม่ได้เติมสารให้ความแข็งแรงจะมีค่าเฉลี่ยของแรงที่ใช้
ต่ำที่สุด = 173.45 กรัม แต่ขนมปังสูตรที่ไม่เติมสารให้ความแข็งแรงจะมีลักษณะยุบตัวและมีกลิ่นรสเปรี้ยว
และจากการทดสอบความชอบหลังจากเก็บรักษาโดไว้เป็นเวลา 7 วัน ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
(P>0.05) ในทุกตัวอย่างที่มีการเติมสารให้ความแข็งแรง
จากการศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บรักษาโดที่มีการเติมสารให้ความแข็งแรงที่ระดับ 2%
พบว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้ 5 วัน โดยที่โดยังมีคุณภาพด้าน pH และ
ปริมาตรจำเพาะที่เหมาะสม