สวัสดี

การผลิตสุรากลั่นจากกากเหลือทิ้งของขบวนการผลิตสาโท

แชร์:
Favorite (38)

15 มกราคม 2559

ชื่อเรื่อง : การผลิตสุรากลั่นจากกากเหลือทิ้งของขบวนการผลิตสาโท 
ผู้วิจัย/ผู้เรียบเรียง : นายเจริญ เทียนประเสริฐกิจ นายเอกนฤน อริยวงศ์วิวัฒน์ 
คณะทำงาน/อาจารย์ที่ปรึกษา : ไตรวิทย์ รัตนโรจน์พงศ์ 
ที่มา : โครงงานเรื่องการผลิตสุรากลั่นจากกากเหลือทิ้งของขบวนการผลิต สาโท ภาควิชาจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปี 2546 
แหล่งสืบค้นฉบับเต็ม : สำนักห้องสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กรุงเทพมหานคร 
กลุ่มสินค้า : 1551 สุราและเครื่องดื่มที่ได้จากเอทิลแอลกอฮอลล์ 
เทคโนโลยี : เทคโนโลยีชีวภาพและการหมัก 
Keyword : สุรากลั่น การผลิตสุรากลั่น การผลิตสาโท กากสาโท 

การผลิตสุรากลั่นจากกากเหลือทิ้งของขบวนการผลิตสาโท

สาโทเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์ ผลิตจากการหมักข้าวเหนียวนึ่งสุกด้วยลูกแป้ง สามารถดื่มได้ทันที หลังจากกรองด้วยผ้าขาวบางโดยไม่ต้องมีการหยุดปฏิกิริยาการหมัก มีปริมาณแอลกอฮอลล์ประมาณ 3-15 % โดยปริมาตร ในกระบวนการผลิตสาโทหลังจากการกรองน้ำออกแล้วจะมีกากเหลือจากการหมักซึ่งกากสาโทเหล่านี้มักจะไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจังหรือนำไปหมักสาโทอีก เนื่องจากการนำกากสาโทไปหมักสาโทใหม่ทำให้สาโทมีกลิ่นรสที่ไม่ดีเหมือนเดิม จึงมักนำกากสาโทดังกล่าวไปเป็นอาหารสัตว์ หรือนำไปทำปุ๋ยหมัก

โครงงานนี้จึงนำกากสาโทที่เหลือจากการหมักสาโทในครั้งแรกมาวิเคราะห์องค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรต และไนโตรเจนที่มีอยู่ในกากสาโท แล้วนำกากสาโทไปหมักสาโทซ้ำ ทำการเปรียบเทียบความสามารถในการสร้างน้ำตาลของเชื้อราแต่ละชนิดกับลูกแป้ง เพื่อหาเชื้อที่สามารถผลิตน้ำตาลจากกากสาโทได้ดีที่สุด หาสภาวะที่เหมาะสมในการหมักเปียกด้วยเชื้อยีสต์บริสุทธิ์ เพื่อให้ได้ปริมาณแอลกอฮอลล์มากที่สุด และนำแอลกอฮอลล์ที่หมักได้ไปกลั่นเป็นสุรากลั่น

ขั้นตอนการศึกษาประกอบด้วย การหมักกากสาโท โดยการนำกากสาโทมาหมักด้วยเชื้อราบริสุทธิ์ หรือ ลูกแป้ง ที่ให้ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลสูงสุด จากนั้นเติมเชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae ลงในวันที่มีการผลิตน้ำตาลมากที่สุด โดยมีการเติมเชื้อยีสต์ปริมาตร 10 % ของปริมาตรกากสาโทที่ทำการหมัก เมื่อทำการหมักให้ได้แอลกอฮอล์เสร็จ จะทำการกลั่นกากสาโทที่ทำการหมักเพื่อให้ได้สุรากลั่นออกมาโดยวิธีการคือ ปรับ pH ของกากาสาโทด้วยกรด และด่าง จนมี pH ประมาณ 7 นำไปต้มเพื่อไล่แอลกอฮอล์ออก เติม Potassium metabibulfite ในสัดส่วน 150 ppm. แล้วทิ้งไว้ 1 คืน คั้นน้ำที่มีอยู่ในกากสาโทจนมี moisture content ประมาณ 70% นำกากที่ได้มาคลุกเคล้ากับลูกแป้ง 10 กรัม แล้วใส่ในโหลแก้วและปิดปากโหลด้วยผ้าขาวบาง บ่มที่อุรหภูมิห้อง เตรียม starter เชื้อยีสต์ Saccharomyces cerevisiae จำนวน 800 มิลลิลิตร ลงในโหลแก้วที่หมักสาโทเป็นเวลา 3 วัน หมักต่ออีก 6 วัน เติม Potassium metabibulfite ทำการกรองแยกเฉพาะส่วนที่เป็นสาโท ทำการวิเคราะห์หาค่าปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ ที่เหลืออยู่ วิเคราะห์หาชนิด ปริมาณ ของแอลกฮอล์ที่มีอยู่ในส่าเหล้า

ผลการทดลองวิเคราะห์หาปริมาณน้ำตาล และไนโตรเจน พบว่ากากสาโทมีปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ 24.15 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีไนโตรเจน 4.2 % pH 3.27 และมีความชื้น 72.77 % เมื่อทำการเปรียบเทียบการหมักกากสาโทด้วยเชื้อราหลายชนิดพบว่า การหมักกากสาโทด้วยลูกแป้ง (ไม่เติมน้ำ)จะมีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือ 289.17 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร หลังการหมัก 3 วัน และผลจากการหมักกากสาโทด้วยลูกแป้งแบบเปียก (เติมน้ำ) มีปริมาณน้ำตาลเท่ากับ 284.6 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร เมื่อนำมากลั่นมีปริมาณแอลกอฮอลล์ 69.37 % (เอทานอล 66.12% และ เมทานอล 3.25%)

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3122
โทรสาร : 02-4228527