15 มกราคม 2559
ชื่อเรื่อง : การศึกษาวิธีการเก็บกาละแมด้วยวิธีการบรรจุดัดแปรบรรยากาศ
ผู้วิจัย/ผู้เรียบเรียง : นางสาวกิ่งแก้ว วงศ์ฉายา
คณะทำงาน/อาจารย์ที่ปรึกษา : ผศ. ดร.ระติพร หาเรือนกิจ
ที่มา : ปัญหาพิเศษ เรื่อง การศึกษาวิธีการเก็บกาละแมด้วยวิธีการบรรจุดัดแปรบรรยากาศ ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร โครงการคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
แหล่งสืบค้นฉบับเต็ม : ห้องสมุดอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
กลุ่มสินค้า : 1549 ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ
เทคโนโลยี : เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว
Keyword : กาละแมสุรินทร์ , การเก็บกาละแม
การศึกษาวิธีการเก็บกาละแมด้วยวิธีการบรรจุดัดแปรบรรยากาศ
กาละแมเป็นขนมไทยที่ได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ผู้คนจึงนิยมรับประทานและซื้อเป็นของฝาก กาละแมของอำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ มีกรรมวิธีการผลิตค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน แต่กลับมีอายุการเก็บรักษาและอายุการวางจำหน่ายสั้นที่การเก็บรักษาในสภาวะปกติ
ดังนั้นจึงทำการศึกษาหาวิธีการเก็บรักษากาละแมที่ต่างจากสภาวะปกติเพื่อให้เก็บกาละแมได้นานขึ้น โดยศึกษาวิธีการเก็บรักษาด้วยวิธีบรรจุดัดแปรบรรยากาศ (Modified Atmosphere Packaging MAP)
การบรรจุภายใต้สภาวะดัดแปรบรรยากาศ หมายถึง การบรรจุผลิตภัณฑ์ให้อยู่ภายใต้บรรยากาศที่มีอัตราส่วนของก๊าซชนิดต่าง ๆ แตกต่างไปจากบรรยากาศปกติ ทั้งนี้เพื่อชะลอหรือป้องกันการเสื่อมเสียคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นก่อนเวลาอันควร
การทดลองครั้งนี้ได้กำหนดสภาวะการบรรจุแบ่งอออกเป็น 5 สภาวะ โดยสามารถสรุปอายุการเก็บรักษาและลักษณะของกาละแมหลังการเก็บรักษาในสภาวะต่างๆได้ดังนี้
1. การเก็บรักษากาละแม ภายใต้สภาวะก๊าซไนโตเจน เก็บได้นาน 6 วัน
2. การเก็บรักษากาละแม ภายใต้สภาวะก๊าซไนโตเจนต่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 80:20 เก็บได้นาน 6 วัน
3. การเก็บรักษากาละแม ภายใต้สภาวะสุญญากาศ เก็บได้นาน 7 วัน แต่รูปร่างไม่สวยงาม
4. การเก็บรักษากาละแมภายใต้สภาวะการใส่วัตถุดูดออกซิเจน เก็บได้นาน 7 วัน
5. การเก็บรักษากาละแมที่สภาวะบรรยากาศปกติ เก็บได้นาน 3 วัน
เมื่อนำผลิตภัณฑ์กาละแมไปวิเคราะห์ทางเคมีพบว่า ผลิตภัณฑ์กาละแมที่เก็บรักษาภายใต้สภาวะวัตถุดูดออกซิเจนให้ผลการตรวจวิเคราะห์ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ กาละแมที่เก็บรักษาในสภาวะปกติมากที่สุด