สวัสดี

Hot issue

ทิศทางอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 66 ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อ

มกราคม 2566

รายละเอียด :

อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่การบริโภคภาคครัวเรือน การดำเนินงานของภาคธุรกิจ จนกระทั่งถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก แน่นอนว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงย่อมบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนให้อ่อนแอลง ผู้บริโภคต้องใช้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจำเป็น กลุ่มคนที่มีรายได้เติบโตไม่ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลทำให้พวกเขาต้องลดปริมาณการจับจ่ายลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายในภาคธุรกิจ ในภาพใหญ่ ธนาคารกลางของหลายประเทศในโลก เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ รวมถึงไทย จะใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อตัวแปรเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลต่อภาคส่วนต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน

อัตราเงินเฟ้อเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ ตั้งแต่การบริโภคภาคครัวเรือน การดำเนินงานของภาคธุรกิจ จนกระทั่งถึงการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลก แน่นอนว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงย่อมบั่นทอนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนให้อ่อนแอลง ผู้บริโภคต้องใช้เงินก้อนใหญ่ขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจำเป็น กลุ่มคนที่มีรายได้เติบโตไม่ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลทำให้พวกเขาต้องลดปริมาณการจับจ่ายลง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายในภาคธุรกิจ ในภาพใหญ่ ธนาคารกลางของหลายประเทศในโลก เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ รวมถึงไทย จะใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งจะกระทบต่อตัวแปรเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลต่อภาคส่วนต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน

ปัจจุบันในเดือนมกราคม 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยอยู่ที่ระดับ 5.0% ลดลงจากระดับสูงสุดที่ 7.9% ในเดือนสิงหาคม 2565 อย่างไรก็ตาม อัตราดังกล่าวยังคงเป็นระดับที่สูงกว่ากรอบเป้าหมาย 1-3% ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เป็น 1.50% ในช่วงต้นปี 2566 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้น แต่ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศดังกล่าวยังคงห่างจากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) ที่อยู่ในระดับ 4.50-4.75% ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะกลางมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารของไทยอยู่ภายใต้แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ โดยผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารนั้นจะเป็นผลกระทบโดยตรงและทางอ้อมผ่านการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งผลกระทบมีทั้งด้านบวก ด้านลบ และต่อทิศทางอุตสาหกรรมอาหารใน 3 ช่องทางหลักๆ ได้แก่

ช่องทางที่ 1 ผลกระทบด้านลบมาจากทั้งฝั่งผู้บริโภคที่มีกำลังซื้ออ่อนตัวลง โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นแต่รายได้ผู้บริโภคยังตามไม่ทัน ทำให้ผู้บริโภคหรือภาคครัวเรือนต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อรักษาระดับการบริโภคของตน ซึ่งข้อจำกัดด้านรายได้ จะทำให้มีกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย เช่น ชนชั้นกลาง กลุ่มคนรายได้น้อย ด้อยโอกาส คนจนในเมือง ที่ไม่อาจรักษาระดับการบริโภคของตนไว้ได้ ต้องยอมลดการบริโภคลง สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบทำให้ตลาดอาหารภายในประเทศอ่อนตัวลง กระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นตลาดในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารฟุ่มเฟือย

 

ช่องทางที่ 2 ผลกระทบทางลบต่อต้นทุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่มาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทุกสาขาการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ โดยรายย่อยมีโอกาสได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ารายใหญ่ ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่มีระดับหลักพันราย ส่วนรายย่อย (SMEs) ในอุตสาหกรรมอาหารมีจำนวนมากกว่า 1.2 แสนราย ดังนั้น ผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยที่มาจากเงินเฟ้อจึงกระทบอุตสาหกรรมอาหารในวงกว้าง

 

และช่องทางที่ 3 ผลกระทบเชิงบวกต่อภาคส่งออกผ่านช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน หากเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลาง ก็จะส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น (ภายใต้สถานการณ์ค่าเงินประเทศคู่แข่งที่เคลื่อนไหวทิศทางเดียวกัน) โดยผลกระทบจะมีนัยสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก เช่น กุ้งแช่แข็งและแปรรูป สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดหวานแปรรูป และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มที่มีต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ในประเทศ โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลไม่มาก เช่น กลุ่มปลาทูน่ากระป๋อง เพราะผู้ผลิตรายใหญ่มีรายได้และค่าใช้จ่ายต่างประเทศต่างกันไม่มาก ทำให้สามารถใช้นโยบาย Natural hedge โดยการจัดสรรให้รายได้จากการขายสินค้าที่ส่วนมากอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และรายจ่าย เช่น ต้นทุนวัตถุดิบหลัก คือ ปลาทูน่า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้เป็นเงินสกุลเดียวกัน

 

แม้ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารโดยรวมทั้งด้านบวกและด้านลบ และอุตสาหกรรมอาหารของไทยพึ่งพิงตลาดต่างประเทศในสัดส่วนพอๆ กับตลาดในประเทศ แต่กลุ่มสินค้าที่เน้นส่งออกมักมีข้อจำกัดในการใช้มาตรการกระตุ้น เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ดังนั้น ตลาดในประเทศจึงเป็นเป้าหมายในการใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับผลกระทบช่องทางตลาดในประเทศในระยะสั้นค่อนข้างรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้าง ดังนั้น ภาครัฐจึงเน้นออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของตลาดในประเทศเป็นหลัก เห็นได้จากในช่วงที่ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การฟื้นตัวจากโควิด-19 รัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และโครงการคนละครึ่ง เป็นต้น.

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3122
โทรสาร : 02-4228527