พฤศจิกายน 2565
ในช่วงที่ผ่านมา อาหารไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก เมนูอาหารไทยหลากหลายเมนูถูกจัดอันดับให้เป็นอาหารที่มีรสชาติถูกปากผู้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง ผัดไทย แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น ส้มตำ น้ำตกหมู ข้าวซอย ส่วนหนึ่งได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวไทยที่ขยายตัว ทำให้คนต่างชาติรู้จักอาหารไทยจากประสบการณ์ที่ได้ลิ้มลอง นอกจากนี้ อาหารไทยยังเต็มไปด้วยส่วนประกอบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นอีกแรกที่ช่วยชับเคลื่อนอาหารไทยให้แพร่หลายไปทั่วโลก กลายเป็น Soft power ที่หลายฝ่ายเล็งเห็นคุณค่าและต้องการผลักดัน
ในการผลักดันให้อาหารไทยกลายเป็น Soft power ที่จะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงขึ้นนั้น กลยุทธ์การใช้ประโยชน์จาก Soft power จำเป็นต้องมีการบูรณาการทำงานจากหลายภาคส่วน
ภาคการท่องเที่ยวและอาหาร (อาจรวมถึงมวยไทย) จัดเป็น Soft Power ที่โดดเด่นและทรงพลังงานของประเทศไทย ซึ่งเรายังไม่ได้ใช้ทุนทางวัฒนธรรมเหล่านี้ เพื่อใช้ในการยกระดับศักยภาพทางธุรกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเท่าที่ควร
ในกรณีของอาหาร ทั่วโลกรู้จักเมนูอาหาร อย่างต้มยำกุ้ง ผัดไทย พะแนง แกงเขียวหวาน ส้มตำ ฯลฯ ส่วนสินค้าอาหารที่มาจากภาคอุตสาหกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของสินค้าดังกล่าว ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก (เราไม่ได้ชูแบรนด์ไทยเท่าที่ควร) เห็นเพียงแต่ซอสพริกศรีราชา ที่ก็ไม่ชัดว่าเป็นของไทยหรือเวียดนาม เป็นไปได้หรือไม่ที่มีน้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มซีฟู้ดส์ (Green sauce) รวมถึงอาหารรายการอื่นๆ ของไทย ก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ
เมื่อไม่นาน เรามีกระแสข่าว “ข้าวเหนียวมะม่วงน้องมิลลิ” ถามว่าเราได้ใช้ประเด็นดังกล่าวต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมหรือยัง เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีสารสกัดธรรมชาติ (Food ingredients) หรือสารแต่งกลิ่นรส (Flavoring) จากมะม่วงน้ำดอกไม้ ส่งขายไปทั่วโลกเพื่อให้ชาวต่างชาตินำไปแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ เป็นต้น
จริงอยู่ Soft power ต้องเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก แต่หลายอย่างเราอาจไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะเรามีฐานทุนอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้สังเกตุ เช่น ในประเทศเพื่อนบ้าน CLM อาหารไทยได้รับความนิยมอย่างมากทั้งที่เรามีคู่แข่งอยู่ไม่น้อย โดยใน สปป.ลาว อาหารไทยได้รับความนิยมบริโภคสูงถึง 75% ของอาหารนำเข้าทั้งหมด ขณะที่ในกัมพูชาอาหารไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 50-60% ส่วนในเมียนมาร์อาหารไทยมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 35% ซึ่งอาหารไทยครองตลาดอันดับที่ 1 ของทั้งสามตลาด ดังนั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราจะต้องต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ผ่านช่องทางสินค้าและเครือข่ายตลาดดังกล่าว ก่อนที่จะสายเกินไป (เพราะประเทศจีน และเวียดนามรุกตลาดอาหารในประเทศดังกล่าวหนักมาก ส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มลดลงแล้วในบางตลาด เช่น กัมพูชา)
ทั้งหมดนี้ จะอาศัยกำลังของภาคอุตสาหกรรมอาหารเพียงลำพัง คงไม่อาจสำเร็จได้ จำเป็นต้องบูรณาการทำงานกับหลายภาคส่วน
download PDF ย้อนกลับ