สวัสดี

Hot issue

ทุเรียนไทย…อยากไปไกลต้องกระจายความเสี่ยง

กรกฎาคม 2565

รายละเอียด :

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทุเรียนกลายเป็นสินค้าอาหารส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการทุเรียนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ราคาทุเรียนปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด หากมองผิวเผินเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะจะทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะได้ลืมตาอ้าปาก อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติสินค้าอะไรก็ตามเมื่อมีความต้องการสูง ราคาก็จะดี ย่อมจะมีแรงจูงใจให้เกิดคู่แข่งเข้ามาในตลาด ประกอบกับทุเรียนเป็นสินค้าเกษตร ปัจจัยด้านอุปสงค์อุปทานจึงมีบทบาทในการกำหนดทิศทางปริมาณผลผลิต ความต้องการสินค้า และราคาเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดนี้คือความเสี่ยงที่เกษตรกรรวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมการรับมือ

 

ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงตลาดจีน

          ทุเรียนส่งออกของไทย 90% มีจุดหมายปลายทางในประเทศจีน แม้จีนจะเป็นตลาดใหญ่ จำนวนประชากรเกือบ 1,400 ล้านคน ทำให้มีดีมานด์มหาศาล ปัจจุบันผลไม้สดไทยพึ่งพิงตลาดจีน 81% ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดทั้งหมด ทำให้ไทยมีความเสี่ยงสูงหากตลาดจีนเกิดปัญหาในการส่งออก เช่น กรณีการปิดด่านช่วงโควิด-19

 ความเสี่ยงจากเข้ามาของประเทศคู่แข่ง

          จีนไม่ได้นำเข้าทุเรียนจากไทยประเทศเดียว แต่ยังนำเข้าทุเรียนจากหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียที่มีทุเรียนพันธุ์มูซังคิง (Musangking) ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซียที่โดดเด่นไม่แพ้หมอนทองของไทย แต่ขายได้ราคาสูงกว่า ส่วนเวียดนามนั้นนอกจากจะได้เปรียบด้านเส้นทางขนส่งแล้ว เวียดนามยังได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้าไปเช่าพื้นที่ใน สปป.ลาว เพื่อทำเกษตรกรรมรวมทั้งปลูกทุเรียนหลายหมื่นไร่ เช่นเดียวกับจีนที่เข้าไปลงทุนปลูกทุเรียนใน สปป.ลาว หลายหมื่นไร่เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าผลผลิตและรสชาติอาจจะยังสู้ทุเรียนไทยไม่ได้ แต่ผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มขึ้นในตลาด ย่อมทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ผู้ซื้อก็อาจใช้ในการต่อรองราคา ทำให้ราคาทุเรียนโดยรวมลดต่ำลงในอนาคต ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตลาดทุเรียนสดโดยรวม

กระจายตลาด สร้างแบรนด์ทุเรียนไทย และแปรรูปเพิ่มมูลค่า...หัวใจของความอยู่รอด

          ธุรกิจผลิตและส่งออกทุเรียนก็เหมือนสินค้าอื่น ที่ต้องมีการกระจายความเสี่ยง ทั้งในแง่ของผู้ซื้อหรือตลาดที่ไม่พึ่งพิงรายใดรายหนึ่งมากเกินไป ซึ่งในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้ยาก ส่วนตลาดอื่นๆ มีความต้องการจำกัด และจริงๆ แล้วทุเรียนเน้นการขายผลสด หรืออีกกลยุทธ์หนึ่งคือไม่เน้นขาย Mass แต่เน้นสร้างแบรนด์ทุเรียนไทยเพื่อสร้างตลาดเฉพาะกลุ่ม ที่ชื่นชอบรสชาติทุเรียนสายพันธุ์ไทยและเชื่อมั่นในมาตรฐานทุเรียนไทย ซึ่งจะทำให้จำหน่ายได้ราคาดีกว่า ปัจจุบันผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมีอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะในตลาดจีนที่ชื่นชอบทุเรียนอยู่แล้ว และมีกลุ่มคนที่มีฐานะดีขึ้นจำนวนมากจากเศรษฐกิจเติบโตสูงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

ส่วนอีกแนวทางหนึ่งในการกระจายความเสี่ยง คือ การพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่ามากขึ้น เสมือนการดึงซัพพลายผลไม้สดออกจากระบบ เป็นอีกทางหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนให้กับทุเรียนรวมถึงผลไม้อื่นของไทย เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ สถาบันเกษตรกร และผู้แปรรูปแล้ว
ยังทำให้เกิดกลไกธุรกิจในการป้องกันปัญหาทุเรียนและผลไม้อื่นล้นตลาดแล้ว แนวทางดังกล่าวยังมีส่วนช่วยยกระดับราคาผลไม้ไทยได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับตลาดส่งออกนั้น จีนก็ยังถือเป็นตลาดผลไม้แปรรูปที่มีศักยภาพ แต่ไทยยังไม่ได้เข้าไปมีบทบาท
ในตลาดดังกล่าวมากนัก ปัจจุบันจีนนำเข้าผลไม้แปรรูปมูลค่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 50% จาก 5 ปีก่อน โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 7 มูลค่าส่งออกเพียง 120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ซึ่งแนวทางของไทยควรเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งจากภายในด้วยการส่งเสริมการยกระดับรายได้และราคาผลไม้ไทยในแบบยั่งยืนด้วยการแปรรูปเพิ่มมูลค่า มีการยกระดับองค์ความรู้บุคลากรในการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้ไทยไปสู่ตลาดศักยภาพโดยเฉพาะตลาดจีนโดยใช้ตลาดนำการผลิต พร้อมๆ กับการส่งเสริมการขยายตลาดและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยในมุมมองใหม่แก่ผู้บริโภคชาวจีนอีกด้วย

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527