มิถุนายน 2565
เวียดนามและไทยต่างเป็นหุ้นส่วนการค้าในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทั้งสองประเทศต่างมีอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชาติ และนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศของตน ขณะเดียวกันในเชิงธุรกิจ ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศก็ต้องแข่งขันกันส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะสินค้าที่ผลิตได้ใกล้เคียงกัน กลุ่มสินค้าอาหารที่ทั้องสองประเทศผลิตได้ใกล้เคียงกัน เช่น ข้าว อาหารทะเล จำพวกปรุงแต่ง ปลาทูน่ากระป๋อง ผลไม้แปรรูป ซอสและเครื่องปรุงรส เป็นต้น ซึ่งในอดีตสินค้าดังกล่าว ไทยเคยเป็นผู้นำในการส่งออก แต่ปัจจุบันเวียดนามได้พัฒนาศักยภาพการผลิตรุดหน้ามากขึ้น เรามาลองทบทวนดูว่าสถานการณ์สินค้าเหล่านี้ในปัจจุบันและแนวโน้มเป็นอย่างไร
ข้าว
ในภาพรวมไทยส่งออกข้าวมูลค่ามากกว่าเวียดนามมาโดยตลอด เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มลดลงจนใกล้เคียงกับเวียดนามแล้ว เนื่องจากเศรฐกิจโลกชะลอตัวจากโควิด-19 เงินบาทที่แข็งค่าในช่วงดังกล่าว ประกอบกับมีประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเข้ามาในตลาดมากขึ้น ทั้งกัมพูชา เมียนมาร์ บังกลาเทศ ทำให้ข้าวไทยมีศักยภาพในการแข่งขันลดลง
กุ้งปรุงแต่ง
เวียดนามส่งออกกุ้งปรุงแต่ง (HS16.05) มากกว่าไทยมาตั้งแต่ 7-8 ปีก่อน โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกกุ้งปรุงแต่งประมาณ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี มากกว่าไทย 2 เท่า ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้เวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าไทยมาก จากความได้เปรียบหลายด้าน เช่น ต้นทุนแรงงานแปรรูป สิทธิพิเศษทางภาษีจาก FTA ที่เวียดนามทำกับอียู ขณะที่ไทยถูกอียูตัด GSP มานานมากแล้ว แนวโน้มศักยภาพในการแข่งขันสินค้ากุ้งปรุงแต่งของเวียดนามมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ไทยทรงตัวถึงแย่ลง
ปลาทูน่ากระป๋อง
อุตสาหกรรมแปรรูปปลาทูน่ากระป๋องเวียดนามมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับไทย เพราะเวียดนามเน้นส่งออกปลาทะเลสดมากกว่า ประกอบกับผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจมายาวนาน มีอำนาจต่อรองด้านวัตถุดิบ รวมถึงมีธุรกิจกระจายไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้ในภาพรวมอุตสาหกรรมแปรรูปปลาทูน่าของไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันสูง อย่างไรก็ตาม ส่วนแบ่งตลาดโลกเริ่มลดลงจากการเข้าสู่ตลาดของผู้ผลิตรายย่อยในหลายประเทศ รวมถึงเวียดนามด้วย โดยในช่วง 7-8 ปี ที่ผ่านมา การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องเวียดนามเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่ไทยลดลงประมาณ 10%
download PDF ย้อนกลับ