สวัสดี

Hot issue

เมื่อค้าปลีกรายใหญ่เปลี่ยนมือ

มกราคม 2559

รายละเอียด :

เปิดตำนานห้างค้าปลีกรายใหญ่
ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและต่างจังหวัดคุ้นเคยดีอย่าง “บิ๊กซี”  เริ่มต้นสาขาแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 ในนามบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ กลุ่มบริษัท คาสิโน กรุ๊ป (Casino Group) จากประเทศฝรั่งเศส โดย คาสิโน กรุ๊ป เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่หลังจากเพิ่มทุนดังกล่าว บิ๊กซีได้ขยายกิจการเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในประเทศไทยโดยซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในประเทศไทย การเข้ามาลงทุนในธุรกิจค้าปลีกในไทยของกลุ่มคาสิโน มาจากการที่ชนะประมูลซื้อกิจการคาร์ฟูร์ในไทยด้วยราคา 3.5 หมื่นล้านบ้าท เอาชนะกลุ่มเซ็นทรัลรีเทล บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่ม ปตท. และได้เปลี่ยนชื่อจากคาร์ฟูร์มาเป็น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตรูปแบบใหม่ระดับพรีเมี่ยม เป้าหมายลูกค้าที่มีรายได้ระดับกลางถึงสูง และยังเปิดร้านค้ามินิบิ๊กซีให้บริการ 24 ชั่วโมง ในพื้นที่ใกล้ชุมชนและสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศอีกด้วย

 

ข้อเสนอการเข้าชื้อกิจการ
ปลายปี 2558 ได้มีรายงานว่ากลุ่มคาสิโน ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จากฝรั่งเศส  ได้เตรียมขายหุ้นที่ถืออยู่ในบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ในไทยหลังจากประกาศขายกิจการ Big C Hypermarket ในเวียดนามไปก่อนหน้านี้ ซึ่งในระหว่างที่ดำเนินการขายธุรกิจในเวียดนามก็ได้รับคำเสนอขอซื้อ "บิ๊กซี ประเทศไทย" ซึ่งเป็นบริษัท ซึ่งเป็ยบริษัทย่อยในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย โดยมี 3 กลุ่มบริษัทใหญ่คือ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และยังมีกลุ่มนักลงทุนจากจีนที่แสดงความสนใจที่จะเข้าซื้อหุ้นบิ๊กซีต่อจากกลุ่มคาสิโน ซึ่งถือหุ้นในบิ๊กซีประมาณ 58.5% เมื่อ 15 มกราคม 2559 บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศให้พนักงานทราบเป็นการภายในว่า "คาสิโนกรุ๊ป" ตัดสินใจขายหุ้นแต่กิจการทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ ซึ่งบริษัทได้ชี้แจงว่าเบื้องต้นยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดและจำนวนหุ้นที่จะขาย และมองว่าการซื้อขายหุ้นเป็นเรื่องปกติของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์รวมทั้งนโยบายปี 2559 ยังคงมีการลงทุนตามแผนที่วางไว้ตามปกติ

ข้อเสนอล่าสุด
เมื่อบริษัททีซีซี คอร์ปอเรชั่น ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ประกาศบรรลุข้อตกลงในการซื้อหุ้นของบิ๊กซีจากกลุ่มบริษัทคาสิโน และขั้นตอนทางตลาดหลักทรัพย์จะต้องทำให้เสร็จสิ้นกระบวนการภายในวันที่ 31 มีนาคม ที่จะถึงนี้ ในเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินกว่า 1.2 แสนล้าน ให้กลุ่มคาสิโนกับหุ้น 58.6% และยังไม่รวมที่จะต้องจ่ายเพิ่มเติมกับการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยของบิ๊กซีอีก นับเป็นการขยายธุรกิจศูนย์การค้า ค้าปลีกค้าส่ง แบบครบวงจรที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง หลังจากพยายามซื้อกิจการของคาร์ฟูร์แต่ล้มเหลวไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา
การเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้จะช่วยให้การขยายธุรกิจของกลุ่มทีซีซี คอร์ปอเรชั่น เป็นไปด้วยความรวดเร็วและครบวงจร ซึ่งภายหลังการเสร็จสิ้นธุรกรรมทีซีซีจะต้องทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) ทั้งหมดของกิจการต่อไป นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางของบิ๊กซีหลังการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสต่อยอดไปต่างประเทศ และต้องติดตามนโยบายกลุ่มทีซีซีจะให้บิ๊กซีเป็นแกนหลักในธุรกิจค้าปลีกแทนบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) หรือไม่ คาดหมายว่านี่เป็นการเตรียมก้าวขึ้นเป็นผู้นำทั้งการเป็นผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ไปจนถึงธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในอนาคต

ปัจจุบันธุรกิจค้าปลีกของบริษัททีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิลด์เอสเตท ปรับโมเดลธุรกิจเป็น 5  คาแรกเตอร์ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ประกอบด้วย เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์, ดิจิตอล เกตเวย์, เซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยาม สแควร์, พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า และ บ็อก สเปซ ยังไม่นับรวมถึงศูนย์การค้าตะวันนา พลาซ่า รวมทั้งบริษัททีซีซี แอสเซ็ทส์ ที่เพิ่งเปิดตัว “เดอะสตรีท รัชดา” เน้นพัฒนาโครงการ “มิกซ์ยูส” เน้นความหลากหลายของศูนย์การค้า ขณะเดียวกันได้เปิดศูนย์ค้าส่งในจังหวัดหนองคาย รวมไปถึงร้านสะดวกซื้อในประเทศลาวและธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจค้าส่งในประเทศเวียดนามอีกด้วย

อนาคตค้าปลีกไทยขยายสู่อาเซียน
การเข้ามาซื้อกิจการของกลุ่มทีซีซี เป็นที่จับตาดูว่าการเปลี่ยนมือของธุรกิจห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ครั้งนี้น่าจะส่งผลให้เกิดกลุ่มธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นบิ๊กซีอาจได้ประโยชน์ในด้านของโอกาสขยายธุรกิจในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มทีซีซี และมีสายป่านยาว โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งแบบดั้งเดิมทั้งในรูปแบบตัวแทนจำหน่าย และโมเดิร์น เทรดทั้งค้าส่งและร้านสะดวกซื้อ เชื่อว่ากลุ่มทีซีซีจะเข้าประมูลบิ๊กซีที่เวียดนามที่มีนโยบายจะขายกิจการเช่นเดียวกัน อนาคตธุรกิจค้าปลีกไทยคงมีโอกาสขยายสู่อาเซียนสู้กับนักลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น และหากใช้เป็นช่องทางกระจายสินค้าอาหารของไทยเหมือนกับรูปแบบการค้าปลีกของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็จเป็นโอกาสโดยรวมของ SMEs ไทยรายอื่นๆ ด้วย

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3122
โทรสาร : 02-4228527