ตุลาคม 2558
นับตั้งแต่ 12 ประเทศบรรลุความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP ในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 หลังจากมีการเจรจายืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2551 กระแส TPPในประเทศไทยก็แรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้มีการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียในการเข้าเป็นสมาชิก TPP ซึ่งประเด็นของ TPP ที่อยู่ในความสนใจคือเป็นการรวมกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุม GDP กว่าร้อยละ 40 ของ GDP โลก เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลักของไทยรวมอยู่ด้วย ขณะเดียวกันก็มีประเทศสมาชิกอย่างมาเลเซียและเวียดนาม รวมถึงประเทศที่แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม TPP ในอนาคตอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นเสมือนประเทศคู่แข่ง
จึงเกรงกันว่าประเทศไทยอาจตกขบวนรถไฟหากไม่เข้าร่วมความตกลงดังกล่าว
ผลกระทบและท่าทีของไทยในการเจรจา TPP
อันที่จริง TPP เป็นที่รู้จักมานานนับสิบปีแล้ว แต่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่บรรดาประเทศสมาชิกบรรลุความตกลงดังกล่าว ซึ่งทางการไทยอย่างน้อย 2 หน่วยงาน คือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้มีการศึกษาในเรื่องดังกล่าวและประเด็นที่กว้างขึ้นภายใต้กรอบของเขตการค้าเสรีเอเปค (FTAAP) ไปแล้วในช่วงปี 2554-2556 จำนวน 3 เรื่อง โดยผลการศึกษาในประเด็นผลกระทบรวมทั้งท่าทีของไทยในการเจรจา พอสรุปได้ดังนี้
1.ในภาพรวมเศรษฐกิจ การเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ TPP หรือกว้างขึ้นเป็นกรอบ FTAAPจะส่งผลลบต่อตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคบางตัวของไทยในระยะสั้น ได้แก่ ปริมาณการส่งออกและดุลการค้าลดลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ในระยะยาวตัวแปรมหภาคทุกตัวจะปรับตัวดีขึ้นทำให้ไทยได้รับประโยชน์สุทธิด้านเศรษฐกิจไม่ว่าจะใช้กรอบใดเป็นฐานในการเปิดเสรี
2.ผลกระทบในระดับสาขาการผลิต พบว่า FTAAP ส่งผลให้ระดับผลผลิต (Output) ของทุกสาขาการผลิตเกิดการขยายตัวในระยะยาว ไม่ว่าจะใช้กรอบการค้าเสรีใดเป็นฐานในการเปิดเสรี
3.หากเจาะลึกไปที่ผลกระทบจะพบว่า อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 10 ในระยะยาว ตรงข้ามกับภาคเกษตรกรรมที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการส่งออกลดลงเนื่องจากราคาสินค้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยการผลิตทำให้แข่งขันไม่ได้
4.หากมีการเลือกเปิดเสรีเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งให้กับประเทศสมาชิก สาขาการผลิตที่ทำให้ประเทศไทยมี GDP สูงขึ้นมากที่สุดภายหลังจากการเปิดเสรี คือ อาหารแปรรูป
5.ท่าทีในการเจรจาสรุปได้ว่า หากไทยจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ TPP ควรดำเนินภายใต้มีเงื่อนไขว่าประเทศสมาชิกต้องยอมรับข้อเสนอของไทยโดยเน้นประเด็นเรื่องสิทธิบัตรยา การเปิดเสรีบริการทางการเงิน รวมถึงอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ไทยจะขอสงวนไว้ก่อน
6.แม้ความตกลงดังกล่าวอาจช่วยเปิดตลาดสินค้าให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้มากขึ้น แต่ควรต้องชั่งน้ำหนักให้ได้ว่าทางเลือกไหนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ หากจะต้องแลกมากับความเสี่ยงและแรงกดดันให้เปิดเสรีในเรื่องที่ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีภาคบริการ การยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) และการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ข้อสรุปจากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้เราพอมองเห็นภาพรวมผลกระทบ รวมทั้งแนวทางในการเจรจาหากจะมีการเข้าร่วม TPP ในอนาคต แต่ก็ยังมีขั้นตอนรายละเอียดปลีกย่อยที่จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจภาครัฐเพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สุทธิจากนโยบายดังกล่าว ในระหว่างที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล ก็มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านการเข้าร่วมความตกลง TPP จากผู้มีส่วนได้เสียดังออกมาเป็นระยะ ภาคส่วนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ก็แสดงท่าทีสนับสนุน ส่วนฝ่ายที่เสียประโยชน์ก็มีท่าทีไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ประเทศไทยจะทำข้อตกลงทางการค้าหรือหุ้นส่วนเศรษฐกิจ เพราะความตกลงตามข้อผูกพันใดๆ เป็นเรื่องของคนทั้งชาติ และมีผลกระทบกับทุกภาคส่วนทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่มากก็น้อย
download PDF ย้อนกลับ