สวัสดี

Hot issue

ผลกระทบอุตสาหกรรมอาหารไทยจากความตกลง TPP (ตอนที่ 2)

พฤศจิกายน 2558

รายละเอียด :

ในตอนที่แล้วได้นำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์ผลกระทบตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยในภาพรวมเปรียบเทียบกับ 12 ประเทศสมาชิก TPP ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม รวมถึงประเทศที่แสดงท่าทีสนใจเข้าร่วมกลุ่ม TPP ในอนาคตจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เกาหลีใต้ คอสตาริกา และโคลัมเบีย โดยเน้นที่ศักยภาพในการผลิตและการแข่งขันด้านการค้าเป็นสำคัญ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ภายใต้ความตกลง TPP สมาชิกส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้แข่งขันมากกว่าจะเป็นตลาด และเมื่อพิจารณาแต้มต่อทางภาษีที่ไทยจะได้รับจากการเข้า TPP เทียบกับที่ไทยได้รับอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน ก็ไม่น่าจะแตกต่างนัก จากข้อมูลส่วนนี้จึงสรุปได้ว่า การเข้าเป็นสมาชิก TPP ก็ไม่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมจะมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกันการที่ไทยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ TPP ก็ไม่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมเสียเปรียบประเทศคู่แข่งแต่อย่างใด

สำหรับในตอนที่ 2 นี้ จะวิเคราะห์เจาะลึกไปที่สินค้า 2 กลุ่มตามบริบทของสินค้า คือ กลุ่มที่ 1 เป็นสาขาอุตสาหกรรมอาหารส่งออกที่สำคัญของไทย 7 รายการ ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง ปลาทูน่า สับปะรด ข้าวโพดหวาน และน้ำตาล ซึ่งจะใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่นิยมในการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขัน คือ Reveal Competitive Advantage หรือ RCA ประกอบการนำเสนอ ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นสาขาที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก จำนวน 8 รายการ ได้แก่ เนื้อโค สุกร นม น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ช็อกโกแลต ขนมหวานจากน้ำตาล และซอสมะเขือเทศ จะใช้การพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ที่เป็นสามาชิก TPP

ศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารส่งออกที่สำคัญของไทย
ข้อสรุปในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารนั้นอาจดูจะกว้างเกินไปในการประเมินความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารประกอบหลายสาขาอุตสาหกรรม จึงต้องวิเคราะห์ลึกลงไปที่รายสาขาอุตสาหกรรมเหล่านั้นด้วย สำหรับผลการวิเคราะห์ศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสาขาที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทยในกลุ่มที่ 1 จำนวน 7 รายการ ได้แก่ ข้าว ไก่ กุ้ง ปลาทูน่า สับปะรด ข้าวโพดหวาน และน้ำตาล เปรียบเทียบกับประเทศสมาชิก TPP และประเทศที่สนใจเข้าร่วม TPP ในอนาคต พอสรุปได้ดังนี้

ข้าว
ในบรรดาประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ มีเพียงเวียดนามและออสเตรเลียที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ส่วนกลุ่มประเทศที่สนใจเข้าร่วม TPP ในอนาคตนั้น มีเพียงสปป.ลาวประเทศเดียวเท่านั้นที่มีศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้น สินค้าข้าวภายใต้ความตกลง TPP สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้แข่งขัน แต่จะอยู่ในฐานะตลาดส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศในอาเซียนทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งไทยอาจไม่ได้รับประโยชน์มากนักจาก TPP เนื่องจากสิทธิประโยชน์ก็คงไม่แตกต่างจากที่ไทยได้รับจากการเป็นประชาคมอาเซียน ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นนั้นไทยก็ได้รับสิทธิประโยชน์จาก JTEPA ส่วนตลาดข้าวในฝั่งประเทศในแถบอเมริกาก็มีความต้องการข้าวไม่มาก สรุปว่าแม้สินค้าข้าวของไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ไทยก็ไม่ได้รับประโยชน์จาก TPP ในการขยายตลาดส่งออก

ไก่
ในบรรดาประเทศสมาชิก TPP ในปัจจุบันมีเพียงสหรัฐอเมริกาและชิลีเท่านั้นที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก ส่วนกลุ่มประเทศที่สนใจเข้าร่วม TPP ในอนาคตนั้น ไม่มีประเทศใดที่มีศักยภาพในการแข่งขันนอกจากไทย ดังนั้น สินค้าไก่ภายใต้ความตกลง TPP สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้แข่งขันแต่จะอยู่ในฐานะตลาดที่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ซึ่งในทางทฤษฎีดูเหมือนสินค้าไก่ของไทยจะได้รับประโยชน์จาก TPP หากสามารถเจรจาในการเปิดตลาดได้ แต่ในทางปฏิบัติคาดว่าหลายประเทศต่างพยายามที่จะปกป้องอุตสาหกรรมไก่ของตนโดยใช้มาตรการด้านสุขอนามัยเป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งสามารถดำเนินการได้ภายใต้กรอบของ WTO ในขณะที่ตลาดญี่ปุ่นนั้นไทยก็ได้รับสิทธิประโยชน์จาก JTEPA ที่มีภาษีต่ำอยู่แล้วในอัตราร้อยละ 8.5 สำหรับไก่สด และร้อยละ 3.0 สำหรับไก่แปรรูป ส่วนสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเป็นคู่แข่งในสินค้าไก่สด แต่ลักษณะสินค้าก็ไม่ได้แข่งขันกันโดยตรง เนื่องจากสินค้าไก่สดของไทยเน้นไก่ชำแหละโดยการใช้แรงงานตัดแต่ง ส่วนสหรัฐฯ เน้นส่งออกไก่ติดกระดูกเป็นหลัก และพยายามในการระบายผลผลิตส่วนเกินโดยเฉพาะชิ้นส่วนไก่ที่เป็น by product ออกนอกประเทศ สรุปว่าแม้สินค้าไก่ของไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ TPP ก็มิอาจทำให้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกไก่ได้มากนัก และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามาทุ่มตลาดชิ้นส่วนไก่ที่เป็น by product ของสหรัฐฯ จนดึงราคาไก่ภายในประเทศตกต่ำตามที่เป็นข่าวปรากฎ

กุ้ง
ในบรรดาประเทศสมาชิก TPP และกลุ่มประเทศที่สนใจเข้าร่วม TPP ในอนาคตนั้น พบว่า สินค้ากุ้งของประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย เปรู อินโดนีเซีย และไทย แม้จำนวนประเทศจะไม่มาก แต่หากดูจากสัดส่วนการส่งออกจะพบว่าประเทศเหล่านี้ครองตลาดกุ้งเกือบครึ่งโลก ดังนั้น สินค้ากุ้งภายใต้ความตกลง TPP สมาชิกส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นประเทศผู้แข่งขัน แต่จะอยู่ในฐานะที่เป็นตลาดโดยเฉพาะสหรัฐฯและญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดกุ้งอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก ปัจจุบันกุ้งไทยที่ส่งออกไปยังทั้งสองตลาดมีภาษีเป็นศูนย์อยู่แล้วจึงไม่ได้รับประโยชน์จาก TPP ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็สามารถใช้ข้อกำหนดด้านสุขอนามัย รวมทั้งมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) มาใช้กำกับการนำเข้ากุ้งจากไทยได้ตามปกติ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดกุ้งไทยในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ขณะที่คู่แข่งอย่างเวียดนามถูกเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 0.91 ส่วนอินโดนีเซียไม่เสียภาษีดังกล่าว สรุปได้ว่า แม้สินค้ากุ้งของไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ TPP ก็มิอาจทำให้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกและได้เปรียบประเทศคู่แข่งได้มากนัก

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3122
โทรสาร : 02-4228527