มีนาคม 2563
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2562 หดตัวลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับ
ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 51.4 ลดลงจากร้อยละ 52.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสินค้าอาหารที่ดัชนีผลผลิตลดลงมาก อาทิ สับปะรดกระป๋อง (-39.3%), น้ำตาลทราย (-19.9%) และแป้งมันสำปะหลัง (-14.1%) ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ดัชนีผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ไก่ (+2.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+3.5%), กุ้ง (+2.5%), เครื่องปรุงรส (+3.3%) และกะทิสำเร็จรูป (+1.8%)
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2562 ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ รายได้ครัวเรือนลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ผนวกกับภาคการส่งออกที่หดตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า และราคาส่งออกสินค้าอาหารที่ลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ ซึ่งในภาพรวมปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยลดลงร้อยละ 0.6 สินค้าหลักที่มีดัชนีผลผลิตลดลงในปี 2562 อาทิ ไก่ (-1.3%), น้ำตาลทราย (-8.2%), แป้งมันสำปะหลัง (-3.4%), กุ้ง (-0.2%) เครื่องปรุงรส (-2.6%), มะพร้าว (กะทิสำเร็จรูป) (-4.4%) และสับปะรดกระป๋อง (-20.0%) ส่วนสินค้าหลักที่มีดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นมีเพียงปลาทูน่ากระป๋อง (+1.1%) เท่านั้น หลังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากวัตถุดิบปลาทูน่าแช่แข็งที่นำเข้ามีราคาอ่อนตัวลง ผู้นำเข้ามีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น
download PDF ย้อนกลับ