พฤษภาคม 2560
ด้านการส่งออกสินค้าอาหารไทยโดยรวมในรูปเงินบาทหดตัวลงเล็กน้อย แต่มูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกอาหารไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2560 มีมูลค่า 236,329 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกในรูปดอลลาร์มีมูลค่า 6,736 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาทลดลง
แหล่งที่มา: 1/ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะไม่มีโรงงานสีข้าวในกลุ่มตัวอย่าง
2/ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
3/ กระทรวงพาณิชย์
หมายเหตุ: * ตัวเลขคาดการณ์
สินค้าส่งออกหลักหลายรายการที่หดตัวลง ส่งผลทำให้ภาพรวมการส่งออกอาหารไทยลดลง โดยสินค้าหลักที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ ซึ่งการส่งออกข้าวลดลงเพราะมีความต้องการนำเข้าข้าวของผู้ซื้อรายใหญ่ลดลง โดยเฉพาะอินโดนีเซียและประเทศในแถบแอฟริกาเป็นหลัก การส่งออกน้ำตาลทรายลดลงเพราะปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายในฤดูการผลิต 2558/59 ที่ลดลง และผู้ส่งออกได้ทะยอยส่งมอบสินค้าในปีการผลิตดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ ในขณะที่การส่งออกแป้งมันสำปะหลังลดลงจากการที่ผู้นำเข้าโดยเฉพาะจีนหันไปใช้แป้งทดแทนจากธัญพืชชนิดอื่น การส่งออกกุ้งลดลงเล็กน้อยหลังจากวัตถุดิบกุ้งที่ลดลงจากผลพวงน้ำท่วมภาคใต้ตั้งแต่ในช่วงปลายปีก่อนจนถึงต้นปี 2560 ส่วนการส่งออกสับปะรดกระป๋องและน้ำผลไม้ (ส่วนใหญ่เป็นน้ำสับปะรดเข้มข้น) ลดลงจากการที่คู่ค้าชะลอการสั่งซื้อหลังจากราคาวัตถุดิบสับปะรดโรงงานอ่อนตัวลงมาก
สินค้าส่งออกที่โดดเด่นในไตรมาส 1/2560 ได้แก่ ไก่ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และอาหารพร้อมรับประทาน โดยการส่งออกไก่ขยายตัวดีหลังจากที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างญี่ปุ่นเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก รวมทั้งเกาหลีใต้ที่เปิดตลาดไก่สดให้กับไทยได้ไม่นานก็ประสบภาวะการระบาดของโรคไข้หวัดนกเช่นกัน ทำให้มีการนำเข้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวขยายตัวตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะภาพลักษณ์มะพร้าวในสายตาผู้บริโภคปัจจุบันเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ จึงกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการในทุกตลาด ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีผู้ผลิตรายใหญ่ของไทยหลายรายได้เพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบรับกระแสความต้องการดังกล่าว ขณะที่การส่งออกอาหารพร้อมรับประทานขยายตัวสูงมาก เนื่องจากเป็นสินค้าส่วนใหญ่เป็นเมนูอาหารไทยที่ผู้บริโภครู้จักและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว โดยมีตลาดส่งออกหลักทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
download PDF ย้อนกลับ