ธันวาคม 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนตุลาคม 2567 ขยายตัวร้อยละ 3.6 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 51.0 ขยายตัวจากร้อยละ 49.3 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำหรับการสต็อกสินค้าในช่วงปลายปี โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (+43.1%), ผักผลไม้แช่แข็ง (+16.8), เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+8.0%), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (+7.7%) และกะทิ (+5.6%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง (-16.2%), กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง (-15.4%) และแป้งมันสำปะหลัง (-8.2%) โดยกลุ่มแป้งมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนไปใช้ข้าวโพดแทนมันเส้นในกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ รวมถึงปัญหาโรคใบด่างที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต
การบริโภคในประเทศเดือนตุลาคม 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสดและผลไม้ ประกอบกับการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงผลผลิตทางเกษตรบางชนิดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและราคาสินค้าบางชนิดสูงขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผลไม้สดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 กลุ่มผักสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 กลุ่มผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร 1.2 และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 0.3 เป็นต้น
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนตุลาคม 2567 มีมูลค่า 123,447 บาท หดตัวร้อยละ 1.4 (%YoY) โดยการหดตัวดังกล่าวเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าลดลงในตลาดสำคัญอย่าง จีน และ อาเซียน ส่งผลกระทบต่อ กลุ่มสินค้าอาหาร ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง น้ำตาล และสับปะรดกระป๋อง อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกเติบโตขึ้น ได้แก่ ข้าว ไก่ ปลาทูน่ากระป๋อง และเครื่องปรุงรส โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดตะวันออกกลางเพื่อสต็อกสินค้าในช่วงเทศกลางปลายปีใหม่
การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ และความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารในช่วงเทศกาล ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินค้าอาหารไทยเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ หรือการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงทางการค้าที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารไทย
download PDF ย้อนกลับ