พฤศจิกายน 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนกันยายน 2567 ขยายตัวร้อยละ 0.1 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 50.4 ขยายตัวจากร้อยละ 50.3 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับปริมาณคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำหรับการสต็อกสินค้าเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในช่วงปลายปี โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (+54.0%), กาแฟสำเร็จรูป (+20.8), บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+7.1%), เนื้อไก่ปรุงสุก (+1.3%), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (+1.0%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ เครื่องปรุงรสประจำโต๊ะอาหาร (-3.1%), แป้งมันสำปะหลัง (-0.5%) โดยกลุ่มแป้งมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนไปใช้ข้าวโพดแทนมันเส้นในกระบวนการผลิตแอลกอฮอล์ รวมถึงปัญหาโรคใบด่างที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต
การบริโภคในประเทศเดือนกันยายน 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งสูงกว่าช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมถึงผลผลิตทางเกษตรบางชนิดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและราคาสินค้าบางชนิดสูงขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผักสด เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ผลไม้สดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 กลุ่มข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เป็นต้น
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนกันยายน 2567 มีมูลค่า 133,194 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (%YoY) ตามความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก โดยกลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าข้าว ปลาทูน่ากระป๋อง และอาหารพร้อมรับประทานที่มีปริมาณการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งในตลาดตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกหดตัวลดลง ได้แก่ ไก่ แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลที่การส่งออกลดลง เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นจากการผลิตที่มากขึ้นของประเทศบราซิล ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำตาลอ่อนตัวลง
การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย โดยได้รับแรงหนุนมาจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่ทยอยคลี่คลายลง ความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงแนวโน้มการลดลงของอัตราค่าระวางเรือในเส้นทางการค้าสําคัญมีส่วนช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบหลักในการแปรรูปหลายรายการอ่อนตัวลง โดยราคาปลาทูน่าที่ลดลงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
download PDF ย้อนกลับ