ตุลาคม 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนสิงหาคม 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.7 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 52.8 ขยายตัวจากร้อยละ 51.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวนี้สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศ ตลอดจนความต้องการสินค้าอาหารในตลาดต่างประเทศที่ยังคงสูง อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลดีต่อการผลิตสินค้าอาหาร โดยตลาดส่งออกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (+47.2%), กะทิ (+34.6), สับปะรดกระป๋อง (+12.3%), เนื้อไก่ปรุงสุก (+11.2%) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+8.2%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (-5.3%), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (-9.0%) เป็นต้น
การบริโภคในประเทศเดือนสิงหาคม 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผลไม้สดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการผลไม้สดและแปรรูปอื่นๆ ในตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น กลุ่มข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ข้าวเป็นสินค้าหลักที่มีความต้องการเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในตลาดโลก ทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มอาหารสำคัญอีกกลุ่มที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นกดดันการบริโภคภายในประเทศ คือ กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เป็นต้น
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนสิงหาคม 2567 มีมูลค่า 151,420 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 (%YoY) ตามความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นจากประเทศคู่ค้า ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งไปยังสหรัฐฯและยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ส่วนใหญ่สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าข้าว ไก่ และปลาทูน่ากระป๋อง เป็นต้น
การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เป็นผลดีต่อภาคการผลิตทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิต ขณะเดียวกันค่าระวางเรือที่ลดลง โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งไปยังสหรัฐอเมริกา และยุโรป ทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนลดลง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลก
download PDF ย้อนกลับ