มิถุนายน 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนเมษายน 2567 ขยายตัวร้อยละ 6.6 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 49.1 ขยายตัวจากร้อยละ 46.1 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวของภาคการผลิตมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากราคาปลาทูน่าที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลดีต่อการผลิต โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ผักผลไม้แช่แข็ง (+66.1%), กะทิ (+26.1%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+24.8%), อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง (+8.8%) และสับปะรดกระป๋อง (+7.2%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง (-11.7%), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (-5.9%), เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (-1.1%) เป็นต้น
การบริโภคในประเทศเดือนเมษายน 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวที่เป็นสินค้าจำเป็นมีความต้องการเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในตลาดโลก ทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 3.45 นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าอีกกลุ่มอาหารสำคัญอีกกลุ่มที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นกดดันการบริโภคภายในประเทศ คือ กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.64 กลุ่มผลไม้สดและแปรรูปอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.14 โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการผลไม้สดและแปรรูปอื่นๆ ในการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้ราคาผลไม้ภายในประเทศ ปรับตัวสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 165,307 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 (%YoY) ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น แรงหนุนจากต้นทุนการผลิตที่อ่อนตัวลงตามราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์น้ำจำพวกปลาทูน่า และกลุ่มผู้ผลิตซอสได้รับต้นทุนน้ำตาลที่มีราคาถูกลง ราคาถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่อ่อนตัวลงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ซอส และเครื่องดื่มนมถั่วเหลือง ขณะที่ผู้ผลิตสามารถปรับราคาจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้นได้ในหลายสาขาอุตสาหกรรม ทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้น
การส่งออกอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดีจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นส่งผลดีต่อภาคการผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลง ซึ่งความต้องการปลาทูน่ากระป๋องในกลุ่ม OEM มีแนวโน้มโดดเด่นเพราะได้รับประโยชน์จากราคาขายลดต่ำลงตามต้นทุนวัตถุดิบภายใต้นโยบาย (Cost plus) ที่ผู้ผลิตใช้ในการกำหนดราคาสินค้าจะส่งผลทําให้ปริมาณคําสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
download PDF ย้อนกลับ