พฤษภาคม 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนมีนาคม 2567 หดตัวร้อยละ 1.4 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 57.5 ต่ำกว่าร้อยละ 58.3 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตส่วนใหญ่ประสบปัญหาผลผลิตลดลงจากการที่วัตถุดิบได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศร้อนและความแห้งแล้ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ จากการปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ปรับเปลี่ยนไปปลูกแป้งมันสำปะหลังที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (-12.2%), น้ำตาลทราย (-10.7%), สับปะรดกระป๋อง (-8.7%), เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (-2.7%) ขณะที่กลุ่มสินค้าอาหารที่การผลิตมีการขยายตัว ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (+50.9%) และเครื่องปรุงรส (+22.1%) โดยมีกลุ่มผู้ผลิตซอสและ เครื่องปรุงรสได้รับอานิสงค์จากต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาถูก ทำให้มีการปรับราคาจำหน่ายสินค้าได้และปริมาณการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น
การบริโภคในประเทศเดือนมีนาคม 2567 ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยราคาอาหารในภาพรวมที่หดตัวร้อยละ 0.6 มีส่วนช่วยรักษาระดับกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ให้หดตัวลงมาก โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาลดลงและส่งผลดีต่อผู้บริโภค ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ หดตัวร้อยละ 5.3 และเครื่องปรุงอาหาร หดตัวร้อยละ 1.6 ส่วนกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าว เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากการสูงขึ้นของราคากาแฟ ชา น้ำอัดลม และกาแฟผงสำเร็จรูป
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 137,828 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 (%YoY) ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว และแป้งมันสำปะหลัง ขณะที่การส่งออกสินค้าไก่เพิ่มขึ้น ตามการบริโภคทั่วโลกเนื่องจากราคาไก่ลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบ โดยตลาดที่คาดว่าการบริโภคจะเติบโตดี อาทิ ญี่ปุ่น อาเซียน ตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม การบริโภคจะเติบโตไม่มากเพราะผู้ผลิตจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตของผลผลิตและความต้องการที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างช้า
การส่งออกอาหารมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีการฟื้นตัว ส่งผลดีต่อภาคการผลิต สินค้าส่งออกอาหารไทยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากประเทศคู่ค้าที่กังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ทำให้สินค้าจำเป็นมีราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้ง และพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนหรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝนที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิต ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอย่างการส่งออกผลไม้สด เช่น ทุเรียน และมะพร้าว ทำให้ราคาผลไม้สดปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะจีน
download PDF ย้อนกลับ