มกราคม 2567
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 หดตัวร้อยละ 4.7 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 50.5 ต่ำกว่าร้อยละ 52.9 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตมีสาเหตุสำคัญจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักที่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อ ขณะที่ความต้องการสินค้าอาหารของทั้งตลาดภายในประเทศและภาคส่งออกก็อ่อนแอลง จากการขาดปัจจัยใหม่ๆ ในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการบริโภคที่ยังอ่อนแอทั่วโลกจากความกังวลเรื่องภาวะสงคราม ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นและระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่ปรากฎการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งยังคงส่งผลต่อการลดลงของปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตร โดยกลุ่มสินค้าหลักที่ดัชนีผลผลิตหดตัวลง ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (-62.3%), แป้งมันสำปะหลัง (-22.8%), ทูน่ากระป๋อง (-19.6%), กุ้งแช่แข็ง (-14.2 %), ซาร์ดีนกระป๋อง (-9.8%) และเนื้อไก่สุกปรุงรส (-1.7%) ส่วนสาขาอุตสาหกรรมที่การผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว (+45.6%) ที่ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์เป็นหลัก
การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวเนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 ราคาสินค้าอาหารปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 0.2 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 กลุ่มผลไม้สดและผลไม้แปรรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 กลุ่มข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 แนวโน้มราคาสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจากภัยแล้ง สงครามรัสเซีย-ยูเครน ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงปัจจัยด้านอุปทานสินค้าเกษตรในประเทศ ยังคงกดดันราคาสินค้าอาหารและส่งผ่านไปยังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรายได้ภาคเกษตรที่ยังคงอ่อนแอ ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลทำให้การบริโภคชะลอตัวต่อไป
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 127,288 บาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (%YoY) กลุ่มสินค้าที่การส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว ปลาทูน่ากระป๋อง มะพร้าว เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน สำหรับปัจจัยสนับสนุนมาจากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกที่คุกรุ่นรวมถึงปรากฎการณ์เอลนีโญที่บั่นทอนปริมาณผลผลิตทางการเกษตร โดยสินค้าส่งออกของไทยได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่มากนักเพราะปรากฎการณ์เอลนีโญก็ทำให้วัตถุดิบทางการเกษตรของไทยหลายรายการลดลงเช่นกัน
การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และ ความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารในช่วงเทศกาล รวมทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการสินค้าอาหารที่สำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
download PDF ย้อนกลับ