สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนมิถุนายน และแนวโน้มการส่งออกและสัญญาณเตือนภัย เดือนกรกฎาคม 2566

กรกฎาคม 2566

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมิถุนายน 2566 หดตัวร้อยละ 4.7 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 48.1 หดตัวจากร้อยละ 50.8 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตมีสาเหตุสำคัญจากคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักหลายประเทศที่ยังคงเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการลดลงของปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยฟื้นตัวจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในไทยต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่  สับปะรดกระป๋อง (-43.8%) แป้งมันสำปะหลัง (-31.1%) ทูน่ากระป๋อง (-21.5%) กะทิ (-17.9%)
เนื้อไก่สุกปรุงรส (-15.2%) และการผลิตน้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (-13.4%)  ขณะที่ การผลิตน้ำตาลทรายยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (+55.9%) จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวเป็นหลัก

ราคาอาหารเดือนมิถุนายน 2566 ขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนหน้า ตามการสูงขึ้นของราคาเกือบทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้นกลุ่มเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ และกลุ่มเครื่องประกอบอาหารที่หดตัวร้อยละ -3.0 และ-2.3 โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากการสูงขึ้นของราคาขนมอบ ข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า กลุ่มไข่ และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 8.9 กลุ่มผักสดร้อยละ 18.1 กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 12.0 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.3  จากการสูงขึ้นของราคากาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน และน้ำอัดลม

 

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่า 132,954 บาท หดตัวร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักส่วนใหญ่มีการส่งออกหดตัวลงมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของปริมาณวัตถุดิบสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร ประกอบกับการลงลงของคำสั่งซื้ออันเนื่องมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจ และสถานการณ์เงินเฟ้อที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค
ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำตาลยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามปริมาณวัตถุดิบ และความต้องการของตลาด

 

การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าจากวิกฤตเงินเฟ้อที่อาจกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค และรายรับของผู้ประกอบการ ความกังวลจากการลงลงของวัตถุดิบทางการเกษตรเนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาล และการแปรปรวนของสภาพอากาศที่มีผลต่อวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูป อย่างได้ก็ตาม ยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ หลังจากที่หลายประเทศเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101