สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนกุมภาพันธ์ และแนวโน้มการส่งออกและสัญญาณเตือนภัย เดือนมีนาคม 2566

มีนาคม 2566

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขยายตัวร้อยละ 6.0  มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 62.9 ขยายตัวจากร้อยละ 60.0 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวของภาคการผลิตมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของวัตถุดิบการเกษตร โดยเฉพาะอ้อย และปาล์มน้ำมัน และความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีแรงฉุดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญของโลกทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่กระทบกำลังการซื้อของผู้บริโภค โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ข้าวโพดหวานกระป๋อง (+72.0%) น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (30.6%) น้ำตาล (23.5%) เครื่องดื่มรสน้ำผลไม้ (19.5%) ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (+16.0%) เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+9.2%) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (4.7%) เครื่องปรุงรส (+4.7%) และกุ้งแช่แข็ง (+2.8%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่  สับปะรดกระป๋อง (-47.0%) กะทิ (-27.5%) แป้งมันสำปะหลัง (-20.0%) เนื้อไก่สุกปรุงรส (-4.7%) และปลาทูน่ากระป๋อง (-3.4%) เป็นต้น

 

ราคาอาหารเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ตามการสูงขึ้นของราคาในทุกกลุ่มสินค้า จากต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น  โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และขนมอบ กลุ่มเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9  กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 กลุ่มผักสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 กลุ่มผลไม้สดเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 กลุ่มเครื่องประกอบอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6

 

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีมูลค่า 103,186 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และอานิสงส์จากราคาสินค้าอาหารส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่ง ทั้งนี้ หากพิจารณาการส่งออกรายสินค้าพบว่า น้ำตาลมีมูลค่าการส่งออก และอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงถึงร้อยละ 20.7 จากความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตอ้อยเข้าสู่โรงงานปีนี้มีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ การส่งออกสับปะรด หดตัวร้อยละ 32.9 จากปัญหาการลดลงของวัตถุดิบ เนื่องจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกจากปัญหาต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น และการขาดแคลนแรงงานในบางพื้นที่

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101