ตุลาคม 2565
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 2.7 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 50.8 ขยายตัวจากร้อยละ 50.1 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวของภาคการผลิตมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทรายขาว (+66.1%) เนื้อไก่สุก (+54.1%) น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (+23.7%) เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+5.9%) แป้งมันสำปะหลัง (+3.3%) ทูน่ากระป๋อง (+0.7%) และกุ้งแช่แข็ง (+0.6%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการหดตัว ได้แก่ผักผลไม้แช่แข็ง (-38.6%) ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (-26.2%) กะทิ (-18.6%) สับปะรดกระป๋อง (-10.9%) เป็นต้น
ราคาอาหารเดือนกันยายน 2565 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ตามการสูงขึ้นของราคาเกือบทุกกลุ่มสินค้า ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุนต้ม ประกอบกับการขายแคลนวัตถุดิบการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากฝนตกชุก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูก กลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 กลุ่มเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มร้อยละ 6.6 กลุ่มผักสด ร้อยละ 13.5 กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 10.9 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 9.9 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.0
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนกันยายน 2565 มีมูลค่า 105,468 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.3 ตามความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศ ประกอบกับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต และต้นทุนค่าขนส่ง โดยการส่งออกมีอัตราการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศสำคัญ และเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยไก่ เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงที่สุด (+97.8) จากการส่งออกไปยังญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน รองลงมาได้แก่ ทูน่ากระป๋อง (+52.1%) จากการส่งออกไป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย และน้ำตาล จากการส่งออกไปประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
download PDF ย้อนกลับ