สิงหาคม 2565
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.0 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 49.5 ขยายตัวจากร้อยละ 45.7 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวของภาคการผลิตมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง จากการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาจับจ่ายในประเทศได้อีกครั้ง โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (+101.2%) เนื้อไก่สุกปรุงรส (+32.4%) เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+19.3%) ปลาทูน่ากระป๋อง (+14.7) ผักผลไม้แช่แข็ง (13.4%) และ การผลิตน้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (+1.3%) เป็นต้น ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการหดตัว ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (-45.3%) กุ้งแช่แข็ง (-13.0%) น้ำผลไม้ (-5.1%) ผลิตภัณฑ์นม (-3.9%) น้ำตาลทรายขาว (-2.5%) แป้งมันสำปะหลัง (-1.1%) และ กะทิ (-1.0%)
ราคาอาหารเดือนกรกฎาคม 2565 ขยายตัวร้อยละ 8.0 ตามการสูงขึ้นของราคาเกือบทุกกลุ่มสินค้า ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุนต้ม ประกอบกับการขายแคลนวัตถุดิบการเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากฝนตกชุก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ปลูก โดยกลุ่มสินค้าอาหารที่มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 กลุ่มเนื้อสัตว์และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มร้อยละ 6.6 กลุ่มผักสด ร้อยละ 15.5 กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 10.9 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 9.9 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 4.0
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนกรกฎาคม 2565 มีมูลค่า 123,927 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 ตามความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และภาคการท่องเที่ยวหลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดทำให้ผู้คนออกมาดำเนินชีวิตนอกบ้านได้เป็นปกติ และมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยการส่งออกมีอัตราการขยายตัวในทุกกลุ่มประเทศสำคัญ และเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้น กุ้ง ที่ลดลงร้อยละ 3.5 จากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 303.2 ตลาดหลักได้แก่ เกาหลี และกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รองลงมาได้แก่ทูน่ากระป๋อง (+54.3%) ตลาดหลักได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย
download PDF ย้อนกลับ