สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนมิถุนายน 2565

กรกฎาคม 2565

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 50.7 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากผลผลิตสินค้าส่งออกหลายรายการ อาทิ ไก่ปรุงสุก (+3.5%) สับปะรดกระป๋อง (+23.0%) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (+26.6%) แป้งมันสำปะหลัง (+16.3%) รวมถึงกลุ่มสินค้าที่เน้นตลาดในประเทศ เช่น ซอสและเครื่องปรุงอาหารประจำโต๊ะ (+10.2%) ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (+23.7%) เบียร์ (+27.0%) ส่วนกลุ่มสินค้าที่หดตัวลงมีสาเหตุหลักจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น กุ้ง มีปริมาณวัตถุดิบลดลง ปลาทูน่ากระป๋อง เผชิญราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้นมาก นมพร้อมดื่ม เข้าสู่หน้าฝน (Low season) สุรากลั่น มีสต็อกคงค้างจำนวนมาก

การบริโภค

ราคาอาหารเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ตามการสูงขึ้นของราคาเกือบทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผักสด น้ำมันบริโภค รวมถึงอาหารพร้อมรับประทาน ยกเว้นกลุ่มข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ที่ราคาอ่อนตัวลงเล็กน้อย โดยต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ถูกส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภคมากขึ้นประกอบกับหมดมาตรการช่วยค่าครองชีพของภาครัฐ ส่งผลทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคโดยรวมอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนทำงานและแรงงานในสถานประกอบการที่เน้นส่งออก มีกำลังซื้อปรับตัวดีขึ้นตามผลประกอบการในภาคธุรกิจส่งออกที่ขยายตัวแข็งแกร่ง

 

การส่งออก

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนมิถุนายน 2565 มีมูลค่า 138,991 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 จากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลายตัว ประกอบกับแรงหนุนจากราคาสินค้าอาหารส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงความกังวลเรื่องการขาดแคลนอาหารหลังเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ภาพรวม 6 เดือนแรกปี 2565 การส่งออกอาหารมีมูลค่า 682,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 โดยตลาดส่งออกขยายตัวดีทุกประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางและอาเซียนที่เร่งนำเข้าอาหารมากขึ้น หลังจากชะลอตัวไปก่อนหน้านี้

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101