กันยายน 2564
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนสิงหาคม 2564 หดตัวร้อยละ 2.4 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 47.4 หดตัวจากอัตราร้อยละ 49.1 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวลง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานหลายแห่งที่ทำให้การผลิตหยุดชะงักชั่วคราว ส่งผลให้ภาพรวมการผลิตอาหารลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ากลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและอานิสงส์จากการอ่อนค่าเงินบาท โดยกลุ่มสินค้าที่มีการผลิตหดตัวลง ได้แก่ เนื้อไก่สุกปรุงรส (-47.1%) ทูน่ากระป๋อง (-25.7%) และผักผลไม้แช่แข็ง (-22.9%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ส่วนใหญ่เพิ่มจากการฟื้นตัวของวัตถุดิบการเกษตรและความต้องการจากตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (+185.9%) น้ำตาลทรายขาว (+22.7%) แป้งมันสำปะหลัง (+22.2%) และกุ้งแช่แข็ง (+3.6%) เป็นต้น
ราคาอาหารเดือนกรกฎาคม 2564 หดตัวร้อยละ 1.5 จากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางรายการ อาทิ ข้าวสาร และผักสด ที่ปรับลดลง ประกอบกับกำลังซื้อและปริมาณการบริโภคชะลอตัวลง จากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการปิดตลาดหลายแห่ง ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้สถานประกอบการภาคบริการบางประเภทต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาด โดยระดับสินค้าที่มีระดับราคาลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มแป้งข้าวและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ -7.0 กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ -1.6 กลุ่มผักสด ร้อยละ -11.9 กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 2.5 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ -0.3 ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีระดับราคาเพิ่มขื้น ได้แก่ กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 3.8 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 4.0
การส่งออกอาหารไทยเดือนสิงหาคม 2564 มีมูลค่า 98,836 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.4 (%yoy) โดยเพิ่มขึ้นจากอานิสงส์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการระดมฉีดวัคซีนในประเทศ ค่าเงินบาทอ่อนค่า และฐานตัวเลขที่ต่ำจากปีก่อน ทั้งนี้ ผลไม้สด (+271.9%) เป็นสินค้าหลักที่ผลักดันการส่งออกอาหารไทยในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 91.0 จากการส่งออกทุเรียน และลำไยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งปริมาณและราคา โดยการส่งออกข้าวขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกตลาดจากอานิสงค์ของการปรับตัวราคาข้าวที่ลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับอินเดียและเวียดนามได้มากขึ้น การส่งออกมันสำปะหลังยังคงเพิ่มขึ้นจากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกกุ้ง ผลิตภัณฑ์มะพร้าว และผลิตภัณฑ์สับปะรด เพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นในตลาด ประกอบกับการฟื้นตัวของธุรกิจบริการร้านอาหารในประเทศคู่ค้าหลักที่กลับมาดำเนินกิจการอีกครั้งหลังคลายมาตรการ lock down
download PDF ย้อนกลับ