สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนกรกฎาคม 2564

สิงหาคม 2564

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนกรกฎาคม 2564 หดตัวร้อยละ 1.6 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 46.9 หดตัวจากอัตราร้อยละ 48.5 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน การหดตัวของภาคการผลิตเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวลง ประกอบกับมาตรการล็อคดาวน์ที่ทำให้ธุรกิจบริการอาหารไม่สามารถเปิดได้อย่างเต็มศักยภาพ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานหลายแห่งที่ส่งผลให้การผลิตหยุดชะงักชั่วคราว จึงทำให้ภาพรวมการผลิตอาหารลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแม้ว่ากลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกยังคงขยายตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและอานิสงส์จากการอ่อนค่าเงินบาท โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ น้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นร้อยละ 179.24 แป้งมันสำปะหลังร้อยละ 51.5 กะทิร้อยละ 30.0 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 20.5 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปร้อยละ 18.1 การผลิตน้ำมันพืชร้อยละ 14.7 และกุ้งแช่แข็งร้อยละ 8.3

ราคาอาหารเดือนกรกฎาคม 2564 หดตัวร้อยละ 0.5 จากราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดบางรายการ อาทิ ข้าวสาร และผักสด ที่ปรับลดลง ประกอบกับกำลังซื้อและปริมาณการบริโภคชะลอตัวลง จากการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการปิดตลาดหลายแห่ง ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้สถานประกอบการภาคบริการบางประเภทต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาด โดยระดับสินค้าที่มีระดับราคาลดลง ได้แก่ สินค้าในกลุ่มแป้งข้าวและผลิตภัณฑ์ ร้อยละ -5.6  กลุ่มผักสด ร้อยละ -5.8 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ -0.3 ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีระดับราคาเพิ่มขื้น ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 2.5 กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 1.9 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.8

การส่งออกอาหารไทยเดือนกรกฎาคม 2564 มีมูลค่า 94,429 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.9 (%yoy) โดยเพิ่มขึ้นจากอานิสงส์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการระดมฉีดวัคซีนในประเทศ ประกอบกับอานิสงส์ค่าเงินบาทอ่อนค่า ราคาสินค้าอาหารส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก และฐานตัวเลขที่ต่ำจากปีก่อน ทั้งนี้ ผลไม้สด (+146.3%) เป็นสินค้าหลักที่ผลักดันการส่งออกอาหารไทยในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67.1 จากการส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งปริมาณและราคา ขณะที่สินค้าส่งออกในกลุ่มแช่แข็ง เช่น ไก่ กุ้ง รวมถึงกลุ่มกระป๋องอย่างสับปะรด ขยายตัวดีหลังจากธุรกิจบริการร้านอาหารในประเทศคู่ค้าหลักที่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ Pent up demand หรือความต้องการที่ถูกอั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านอาหารถูกปิดเป็นเวลาหลายเดือน

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101