สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนเมษายน 2564

พฤษภาคม 2564

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนเมษายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 0.9  มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 50.8 ลดลงจากอัตราร้อยละ 51.6 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะที่สาขาการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก มีการขยายตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมของประเทศคู่ค้าหลักหลายประเทศ หลังจากประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจบริการร้านอาหารต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่โหมดของการฟื้นตัว ความต้องการสินค้าอาหารที่เกี่ยวเนื่องจึงมีแนวโน้มขยายตัว โดยเฉพาะในกลุ่มผักผลไม้กระป๋อง ได้แก่ สับปะรดกระป๋องที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.4 และข้าวโพดหวานกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 กลุ่มอาหารทะเลแช่แข็ง เช่น หมึกแช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 และปลาแช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 กลุ่มเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไก่สดแช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และไก่ปรุงสุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7

ราคาอาหารเดือนเมษายน 2564 เพิ่มขึ้นตัวร้อยละ 0.4 จากต้นทุนราคาน้ำมัน และระดับราคาผักผลไม้ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากความแปรปรวนของสภาพอากาศส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง โดยภาพรวมการบริโภคภายในประเทศยังขยายตัวอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว และมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาครัฐที่ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน แต่จากภาวะทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ความต้องการซื้อของผู้บริโภคต่ำกว่าระดับปกติ โดยสินค้าที่มีระดับราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่  สินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 2.4 กลุ่มผักสด ร้อยละ 8.6 กลุ่มผลไม้สด ร้อยละ 2.3 และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 3.4 ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีระดับราคาลดลง ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลง ร้อยละ 6.7 กลุ่มไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลงร้อยละ 4.8 และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ 0.3

การส่งออกอาหารไทยเดือนเมษายน 2564 มีมูลค่า 94,574 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 8.0 (%yoy) การส่งออกไทยหดตัวลงเกือบทุกรายสินค้าเนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อน ยกเว้นผลิตภัณฑ์มะพร้าวและสับปะรดที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของวัตถุดิบ โดยการส่งออกข้าวประสบปัญหาการแข่งขันด้านราคาโดยเฉพาะในภาวะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง รวมถึงข้าวขาวไทยที่เป็นข้าวคุณภาพปานกลางได้รับความนิยมลดลง สวนทางกับข้าวของประเทศคู่แข่งที่มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพดีและราคาที่ถูกกว่า ส่งผลทำให้ข้าวไทยส่งออกลดลงและแข่งขันได้ยาก ประกอบกับต้นทุนค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกข้าวและน้ำตาลที่มีราคาต่อหน่วยไม่สูงนัก ในขณะเดียวกันกลุ่มสินค้าที่เคยได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มมีสัญญาณการส่งออกลดลงหรือไม่ก็ชะลอตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101