สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนมกราคม 2564

กุมภาพันธ์ 2564

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมกราคม 2564 หดตัวร้อยละ 3.9  มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 63.4 ลดลงจากอัตราร้อยละ 66.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการชะลอตัวของความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออก 

อย่างไรก็ตาม แม้ภาคการผลิตจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการผลิตน้ำตาลที่ปรับตัวเพิ่มตามวัตถุดิบอ้อยที่เข้าสู่โรงงานมากขึ้นหลังจากที่เปิดหีบเมื่อช่วงเดือนธันวาคม กลุ่มสินค้าที่มีการผลิตหดตัวลงได้แก่ ผักผลไม้แช่แข็ง (-57.3%) สับปะรดกระป๋อง (-9.1%) ปลาทูน่ากระป๋อง (-8.9) และ เนื้อไก่ปรุงสุก (-2.3%) ส่วนสินค้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับสูงได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+14.8%) แป้งมันสำปะหลัง (+13.2%) ผลิตภัณธ์น้ำปลา (12.4%) น้ำผลไม้ (+4.9%) กะทิ (+4.6%) เนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็ง (+4.4%) และซาร์ดีนกระป๋อง (+3.8%) เป็นต้น

การบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในหมวดผักสดและเครื่องประกอบอาหารยังปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเกิดอุทกภัยในภาคใต้ รวมถึงปาล์มน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการบริโภคยังคงอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ และแรงฉุดจากการลดลงของนักท่องเที่ยว โดยสินค้าที่มีระดับราคาเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าในกลุ่มผักสด ร้อยละ11.2 กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของเนื้อสุกร และกลุ่มเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันพืช ซอสหอยนางรม กะทิสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าในกลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งลดลง ร้อยละ -5.0 จากตามทิศทางการอ่อนตัวของราคาข้าวสารเจ้าและข้าวสาร และกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ-0.0

การส่งออกอาหารไทยเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 69,626 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 0.0 (yoy) โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปลดลงร้อยละ 10.5 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในตลาดหลัก ทำให้มีการล็อกดาวน์และคุมเข้มการเปิดปิดร้านอาหาร และภัตตาคารอีกครั้ง ส่วนการส่งออกข้าวตามราคาข้าวที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากแรงกดดันจากด้านอุปทานข้าวและการค่าของเงินบาท น้ำตาลทรายลดลงจากผลกระทบจากภาวะอุปทานตึงตัวในตลาด โดยไทยมีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่อย่างบราซิลและอินเดีย ขณะที่การส่งออกอาหารทะเลแช่งแข็ง ลดลงเนื่องจากมีการนำเข้าจำนวนมากช่วงก่อนหน้า ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำให้การส่งมอบสินค้าล่าช้าลง

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ติดต่อสอบถามข้อมูล ต่อ 3122 ติดต่อสมาชิกสถาบันอาหาร ต่อ 8101