ตุลาคม 2562
การผลิต
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนกันยายน 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.0 ลดลงจากร้อยละ 59.2 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามการขยายตัวของความต้องการสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ และอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก
กลุ่มสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับสูง ได้แก่ ผักและผลไม้แช่แข็ง (+30.9%), น้ำผลไม้ (+12.8%), น้ำมันพืช (+7.8%), บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+7.1%) และผลิตภัณฑ์นม (+6.9%) ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกที่มีปริมาณการผลิตขยายตัว ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง (+45.2%) และเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+0.8%)
การบริโภค
การบริโภคภายในประเทศในกลุ่มสินค้าอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของราคาในกลุ่มข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว ร้อยละ 9.2 โดยเฉพาะข้าวที่มีราคาสูงขึ้นร้อยละ 11.7 ตามการปรับราคาของข้าวสารเหนียว และข้าวสารเจ้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวมีน้อย ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ผักและผลไม้ ร้อยละ 7.0 โดยผัก สูงขึ้นร้อยละ 8.35 ( มะนาว พริกสด หอมหัวแดง) ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับราคาฐานปีที่ผ่านมาต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้น ร้อยละ 5.74 (ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า เงาะ) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 2.79 (เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.63 (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ครีมเทียม) ทั้งนี้ ราคาในกลุ่มเครื่องดื่ม ไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.53 (น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.66 และ 0.51 ตามลำดับ
การส่งออก
การส่งออกอาหารไทยเดือนกันยายน 2562 มีมูลค่า 80,874 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 6.5 โดยได้รับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งตัวของค่าเงินบาท โดยการส่งออกสินค้าหลักลดลงเกือบทุกรายการ ยกเว้น น้ำตาล ที่ยังคงมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา และฟิลิปปินส์ที่เพิ่มสูงร้อยละ 911.9 และร้อยละ 389.0 ตามลำดับ โดยการส่งออกน้ำตาลไปยังฟิลิปปินส์ฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลฟิลิปปินส์อนุมัติให้เอกชนนำเข้าน้ำตาลทรายได้ การส่งออกข้าวลดลงร้อยละ 36.6 จากปัญหาอุปทานข้าวในตลาดที่ลดลง และการแข็งค่าของเงินบาท ที่ทำให้ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง ส่วนการส่งออกมันสำปะหลัง ลดลงตามการส่งออกไปจีน และอินโดนีเซีย เป็นหลัก ขณะที่การส่งออกสับปะรด ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องจากวัตถุดิบที่ลดลง และปัญหาด้านความสามารถการแข่งขันด้านราคาของไทย
download PDF ย้อนกลับ