สิงหาคม 2562
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยเดือนมิถุนายน 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เทียบจากเดือนเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 51.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.0 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน
กลุ่มสินค้าที่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นในระดับสูงส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ การผลิตน้ำมันจากพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (15.4%), บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (12.9%) น้ำผลไม้ (12.0), และผลิตภัณฑ์นม (11.4%) เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ผลิตภัณฑ์กะทิ (1.7%), กุ้งแช่แข็ง (1.3%), ทูน่ากระป๋อง (1.0%) และแป้งมันสำปะหลัง (0.6%)
การบริโภคภายในประเทศในกลุ่มสินค้าอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นไม่ได้สูงนักเนื่องจากระดับราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น โดยในเดือนกรกฎาคม 2562 ดัชนีราคาผู้บริโภคในกลุ่มสินค้าอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สูงขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่มีราคาปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ได้แก่ ผักสด (+20.0%) เป็ด ไก่ สำเร็จรูปและแปรรูป (+16.3%) และเนื้อสัตว์สด (11.3%) ปัจจัยหลักที่ผลักดันราคาสินค้าอาหารให้ปรับตัวสูงขึ้น คือสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้สินค้าอาหารสดเน่าเสียง่าย ส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงและราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการในตลาดยังมีอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกอาหารไทยเดือนกรกฎาคม 2562 มีมูลค่า 84,771 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.5 โดยได้รับปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของค่าเงินบาท