17 ตุลาคม 2567
อินโดนีเซียเตรียมออกข้อบังคับการรับรองฮาลาลตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2567 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าอาหารจะต้องได้รับการรับรองฮาลาลโดยหน่วยงานรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอินโดนีเซีย (The Halal Product Assurance Agency: BPJPH) ภายใต้กฎหมายฉบับที่ 33/2014 ว่าด้วยการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง และสารเคมี รวมถึงกระบวนการผลิต การจัดเก็บ การบรรจุหีบห่อ และการจำหน่ายจะต้องได้รับการรับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย หากผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมต้องห้ามหรือฮารอม (สุรา อาหารที่ทำจากหมู) จะต้องระบุข้อความว่า “ไม่ใช่ฮาลาล หรือ non-halal” นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่ไม่มีการรับรองฮาลาลจากอินโดนีเซีย จะถูกติดสติ๊กเกอร์ไม่ใช่ฮาลาลทับฉลากเดิม แม้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะติดฉลากฮาลาลจากประเทศต้นทางแล้วก็ตาม ซึ่งอาจส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีตราฮาลาลในอินโดนีเซียลดลง
ทั้งนี้ การรับรองฮาลาลในอินโดนีเซียจะมีผลต่อพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในร้านอาหารที่ไม่มีการรับรองอาจถูกมองว่าขาดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ไทย แม้จะได้รับการรับรองฮาลาลตามกฎหมายภายในประเทศ ก็ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎหมายการรับรองฮาลาลใหม่ของอินโดนีเซีย เพื่อเข้าถึงตลาดอินโดนีเซียที่มีมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารสูงและกำลังเติบโต การได้รับการรับรองยังสามารถเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลางได้อีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านการลงทะเบียนใบรับรองฮาลาลจากต่างประเทศ (SHLN) ได้ที่ ptsp.halal.go.id
ที่มา : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
download PDF ย้อนกลับ