ประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้น้ำเป็นปริมาณมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในโลก จากข้อมูลการศึกษาในปี ค.ศ.2009 โดย Ken Salazar พบว่าประเทศสหรัฐอเมริกามีการใช้น้ำประมาณ 1 พันล้านแกลลอนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.1980 คิดเป็นร้อยละ 5 โดยแบ่งออกเป็นแทงก์น้ำ การชลประทาน การเกษตร เหมืองแร่ น้ำในครัวเรือน ปศุสัตว์ อุตสาหกรรม (Kenny, J.F. และคณะ, 2009) ต่อมาในปี 2012 องค์กร World Wildlife Fund ได้รายงานว่าร้อยละ 38 ของวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการผลิตทั่วโลกอยู่ในประเทศจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งอเมริกาเป็นประเทศอันดับ 2 ที่มีค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ในระดับอุตสาหกรรมและการใช้น้ำของโลกเป็นรองจากประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1,053 และ 1,145 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ อันเนื่องจากจำนวนประชากรและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปจากอดีตเช่นเดียวกับประเทศจีน โดยค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของสหรัฐอเมริกามาจากภาคการเกษตรกรรมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 84 จากภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 12 และการอุปโภคบริโภคภายในประเทศร้อยละ 4 ดังภาพที่ 1 (World Wildlife Fund, 2012)
ภาพที่ 1 วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของประเทศสหรัฐอเมริกา
แหล่งที่มา : World Wildlife Fund, 2012
สอดคล้องกับข้อมูลในปี ค.ศ.1997 ถึง ค.ศ.2001 ที่มีการศึกษาโดยศาสตราจารย์ Hoekstra ผู้ริเริ่มการประเมินวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ที่พบว่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการใช้ในน้ำในสินค้าการเกษตร ตามด้วยสินค้าอุตสาหกรรมและการใช้น้ำในครัวเรือน (Chapagain, A.K. และ Hoekstra, A.Y., 2005) ซึ่งเป็นน้ำเสมือนที่ใช้จากภายนอก (external water footprint) ร้อยละ 80 ของค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ทั้งหมดของประเทศ
หากพิจารณาค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์แบ่งตามประเภทของวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีน้ำสีเขียว น้ำสีฟ้า และน้ำสีเทา แบ่งเป็นร้อยละ 70 ร้อยละ 11 และร้อยละ 19 ของค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ทั้งหมดตามลำดับ สืบเนื่องจากการใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรมของประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้นน้ำสีเขียวจึงเป็นประเภทน้ำที่พบมากที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกันกับประเทศแคนาดาและแมกซิโกที่ตั้งอยู่ในเขตทวีปอเมริกาเหนือ (World Wildlife Fund, 2012) โดยค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์เฉลี่ยต่อหัวประชากรของทั้ง 3 ประเทศแสดงดังภาพที่2 สหรัฐอเมริกามีค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์เฉลี่ยต่อหัวประชากรมากที่สุดอยู่ที่ 2,842 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 1,385 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี หรือมากกว่าถึงเท่าตัว และสำหรับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหาร ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศที่มีค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์สูงที่สุดในทวีปอเมริกาหรือ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์มะเขือเทศ กาแฟ ข้าว ไวน์ องุ่น ไข่ และถั่ว แสดงดังภาพที่ 3
ภาพที่ 2 วอเตอร์ฟุตพริ้นท์เฉลี่ยต่อจำนวนประชากรของประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ
แหล่งที่มา : World Wildlife Fund, 2012
ในส่วนของน้ำเสมือนที่ใช้จริงภายในประเทศ (virtual water) สหรัฐอเมริกา พบว่ามีน้ำเสมือนนำเข้าต่ำกว่าน้ำเสมือนที่ส่งออกหรืออีกนัยหนึ่งคือสหรัฐอเมริกามีการใช้ทรัพยากรน้ำของประเทศมากกว่าทรัพยากรน้ำจากต่างประเทศ แสดงดังภาพที่ 4
ภาพที่ 3 วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหารในทวีปอเมริกาเหนือ
แหล่งที่มา : World Wildlife Fund, 2012
ภาพที่ 4 น้ำเสมือนที่ใช้จริงภายในประเทศ (virtual water) สหรัฐอเมริกา
แหล่งที่มา : World Wildlife Fund, 2012
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทางด้านวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหาร ได้แก่ การศึกษาค่าการบริโภคน้ำของโคเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ของ Beckett, J. L. และ Oltjen, J. W. (2011) เนื่องจากปัจจัยการเพิ่มจำนวนของประชากรที่มากขึ้นส่งผลต่อความต้องการบริโภคของเนื้อโคในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าเนื้อวัวไร้กระดูก 6.9 พันล้านกิโลกรัม ในประเทศสหรัฐอเมริกามีปริมาณการบริโภคน้ำถึง 25,325 พันล้านลิตรต่อปี คิดเป็น 3,682 ลิตรต่อเนื้อวัวไร้กระดูก 1 กิโลกรัม การศึกษาค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ปีกแปรรูป โดย Water Footprint Network (2005) พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีปริมาณการใช้น้ำต่อการผลิตเนื้อสัตว์ปีกแปรรูป 2,217 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน แบ่งเป็นน้ำสีเขียว น้ำสีฟ้า และน้ำสีเทา เท่ากับ 1,728, 187 และ 303 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน ตามลำดับ ลำดับถัดมาเป็นการศึกษาการใช้น้ำต่อการผลิตพาสต้าของบริษัทขนาดใหญ่ โดย Ruini,L. และคณะ (2013) ซึ่งการผลิตพาสต้าในสหรัฐอเมริกามีการใช้น้ำอยู่ที่ 1.584 ลิตรต่อกิโลกรัม แสดงดังภาพที่5 ซึ่งพิจารณาตั้งแต่การปลูกพืช กระบวนการผลิต การบรรจุ การขนส่ง ตลอดจนการปรุงอาหาร ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามีค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการปลูกข้าวสาลีอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่พิจารณา แสดงดังภาพที่6 ในลำดับที่สาม การศึกษาวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของห่วงโซ่อาหารในเขตเมดิเตอร์เรเนียนโดย Capone R.,และคณะ (2014) และการศึกษาค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์และพืชของสหรัฐอเมริกา โดย Mesfin, M.M., และ Hoestra, A.Y., 2012
ภาพที่ 5 วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของข้าวสาลีของแต่ละพื้นที่ในโลก
แหล่งที่มา : Ruini, L. และคณะ, 2013
ภาพที่ 6 วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของข้าวสาลีของแต่ละพื้นที่ในโลก
แหล่งที่มา : Ruini,L. และคณะ, 2013
ในปี ค.ศ.2013 Innovation Center for US Dairy ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายงาน “U.S. Dairy’s Environmental Footprint” เพื่อรายงานเกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิต หมายรวมถึงการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ขอผลิตภัณฑ์จากนม ในช่วงปี ค.ศ.2008 ถึง ค.ศ.2012 จากข้อมูลของ Capper การใช้ทรัพยากรในการผลิตนมในปี ค.ศ.2007 ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การใช้น้ำและพื้นที่ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เทียบกับปี ค.ศ.1994 มีค่าสูงกว่ามาก แสดงดังภาพที่7 เมื่อพิจารณาการใช้น้ำในการผลิตนมตลอวัฏจักรชีวิต จะแบ่งเป็นน้ำจากการผลิตอาหาร การผลิตนมจากฟาร์ม กระบวนการผลิตในโรงงาน บรรจุ การขนส่ง การขาย และการบริโภค ดังตารางที่1 โดยค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของการผลิตนมมีค่าเท่ากับ 140 ลิตรต่อกิโลกรัม หรือคิดเป็น 144.2 แกลลอน ต่อ 1 แกลลอนนม และยังได้มีการศึกษค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของชีส พบว่าค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของชีส 1 กิโลกรัม มีค่าเท่ากับ 1.37 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 164 แกลลอนต่อ 1 ปอนด์ชีส(Innovation Center for US Dairy, 2013)
ภาพที่ 7 การใช้ทรัพยากรในการผลิตนมปี ค.ศ.2007 เทียบกับปี ค.ศ.1994
แหล่งที่มา : Innovation Center for US Dairy, 2013
ตารางที่ 1 การใช้น้ำตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์นม
แหล่งที่มา : Innovation Center for US Dairy, 2013
จากข้อมูลข้างต้นส่งผลให้ได้มีการตระหนักถึงความสำคัญในการบริโภคน้ำและการใช้น้ำในประเทศเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ จากการศึกษาทางตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย และรัฐเนวาดา เป็นต้น กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนักและมีอัตราการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมากจากการเพิ่มตัวของประชากรอีกทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมากจากภาวะเรือนกระจกที่ทำให้อุณหภูมิภายในโลกสูงส่งผลให้ความต้องการในการใช้น้ำเพิ่มตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการเกษตร (Ackerman, F., and Stanton A., 2011) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาและการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างอย่างต่อเนื่อง