กรณีศึกษาร่องรอยการใช้น้ำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและผักผลไม้กระป๋อง

รัตนาวรรณ และคณะ (2551) ได้ทำศึกษาการประยุกต์การประเมินวัฎจักรชีวิตเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วมภายในห่วงโซ่การผลิตกุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็งแบบเป็นตัว พบว่า กุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็งแบบเป็นตัว 1 ถุง หนัก 453 กรัม ใช้กุ้งดิบ (จากฟาร์ม) จำนวน 1.7 กิโลกรัม น้ำ(ในการผลิตลูกกุ้ง เลี้ยงกุ้ง และแปรรูปกุ้ง) จำนวน 10 ลูกบาศก์เมตร ใช้อาหารเม็ดจำนวน 3.3 กิโลกรัม (ที่มีองค์ประกอบหลักเป็นปลาป่น จำนวน 1.1 กิโลกรัม ซึ่งทำจากปลาเป็ด จำนวน 4.4 กิโลกรัม) ใช้พลังงานในการผลิต (โรงเพาะฟักฟาร์ม โรงงานแปรรูปกุ้ง และการผลิตบรรจุภัณฑ์) ประมาณ 39 เมกะจูล การขนส่งผลิตภัณฑ์กุ้งขาวแวนนาไมแช่แข็งแบบเป็นตัว 1 ถุงใช้พลังงานในการปรุงอาหาร ประมาณ 4 เมกะจูล และมีค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดการร่อยหรอของทรัพยากรประเภทที่ไม่สามารถทดแทนได้ประมาณ 0.04-0.05 กิโลกรัม Sb equivalent ค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน ประมาณ 5-8 กิโลกรัม CO2  equivalent            ค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อมนุษย์ประมาณ 0.6-0.8 กิโลกรัม 1,4 dichlorobenzene equivalentค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษทางบกประมาณ 0.003-0.004 กิโลกรัม 1,4 dichlorobenzene equivalent ค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษทางน้ำจืดประมาณ 0.08-0.11 กิโลกรัม 1,4 dichlorobenzene equivalent และค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดความเป็นพิษทางทะเลประมาณ 394-675 กิโลกรัม 1,4 dichlorobenzene equivalent ค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะฝนกรดประมาณ 0.04-0.06 กิโลกรัม SO2 equivalent และค่าศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวการณ์เพิ่มสารอาหารในน้ำประมาณ 0.05-0.10 กิโลกรัม PO43- equivalent

ผลการวิเคราะห์การกระจายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บ่งชี้ว่าขั้นตอนการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ฟาร์ม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในห่วงโซ่ ตามด้วยกระบวนการแปรรูปและการบริโภค โดยในขั้นตอนการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ฟาร์ม พบว่า ประเด็นปัญหาหลักมาจากการใช้อาหารเลี้ยงกุ้ง การใช้พลังงาน (ไฟฟ้าและน้ำมัน) ในเครื่องตีน้ำ และปริมาณสารอินทรีย์ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในน้ำทิ้งหลังการจับ สำหรับการผลิตอาหารกุ้งมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ปลาป่น กากถั่วเหลือง และแป้งสาลี ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักสำหรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากกระบวนการแปรรูป พบว่า มาจากการใช้ภาชนะบรรจุชนิดถุงตั้งได้ เนื่องมาจากกระบวนการเป่าฟิล์ม ที่ต้องอาศัยน้ำมันที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ส่วนการบริโภคมีสาเหตุหลักจากการใช้พลังงานในการปรุงอาหาร

อุตสาหกรรมอาหารกับ WATER FOOTPRINT

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออก ได้นำเสนอข้อมูล Water footprint เกี่ยวกับเนื้อไก่ สรุปประเด็นได้ว่า ปัจจุบันรอยเท้าน้ำของเนื้อไก่จัดอยูในกระบวนการที่มีการใช้น้ำในปริมาณมากซึ่งรอยเท้าน้ำเฉลี่ยประมาณ 3,900 ลิตรต่อไก่ 1 กิโลกรัม สาเหตุมาจากกระบวนการล้างวัตถุดิบมีการใช้น้ำปริมาณมากดังนั้นควรมีการติดตั้งมิเตอร์น้ำ เพื่อติดตามและการประเมินการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรมีการใช้วิธีการล้างแบบล้างย้อน (Counter-current flow) แทนระบบการไหลล้น (Overflow system)

กรณีศึกษาการใช้น้ำของข้าว

ธีระวัฒน์ธรรมนิยมและคณะ ได้ศึกษารอยเท้าน้ำของข้าวในพื้นที่ฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยการวิเคราะห์การเพาะปลูกข้าวทั้งนาปี และนาปรัง ปัจจุบันค่ารอยเท้าน้ำของข้าวเปลือกเฉลี่ยทั้งโลกประมาณ1,325  ลูกบาศก์เมตรต่อตัน และค่ารอยเท้าน้ำของข้าวเปลือกในประเทศไทยเฉลี่ย 1,617 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน ค่ารอยเท้าน้ำของข้าวเฉลี่ยนาปีและนาปรังเท่ากับ 1,653 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน แต่ปริมาณรอยเท้าน้ำของข้าวที่ศึกษายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของรอยเท้าน้ำของโลก ดังนั้นการจะทําให้ประเทศไทยมีรอยเท้าน้ำที่มีปริมาณลดลงควรเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้ได้มากที่สุดรวมถึงการจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ

สินค้าเกษตรอื่นๆ

กระทรวงพลังงานได้พยากรณ์ความต้องการพลังงานในอนาคตของประเทศไทยโดยคาดการณ์ว่าในปี 2564 ปริมาณความต้องการพลังงานจะเพิ่มมากขึ้นโดยกำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดซึ่งภาครัฐได้มุ่งเน้นและให้การสนับสนุนพัฒนาทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานทดแทนในภาคขนส่งอย่างไบโอดีเซลที่สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบภายในประเทศ คือ ปาล์มน้ำมันซึ่งมีการส่งเสริมการปลูกปาล์มให้มากขึ้นเพื่อให้ได้สัดส่วนกำลังการผลิต 18.5% โดยข้อดีเป็นการส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นหนึ่งในพลังงานหลักทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลและลดการนำเข้าน้ำมันได้อย่างยั่งยืนในทางกลับกันก็ส่งผลต่อความต้องการการใช้น้ำและการเกิดมลภาวะ อันเนื่องมาจากการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในช่วงการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นโดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงได้ทำการวิเคราะห์ปริมาณการใช้น้ำของปาล์มน้ำมันสำหรับผลิตไบโอดีเซลโดยอาศัยแนวคิด Water Footprint ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการวิเคราะห์และบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยผลผลิตของปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ทั้งหมด16 จังหวัด (ปีพ.ศ.2550–2554) ซึ่งมีความแตกต่างตามสภาพภูมิอากาศในแต่ละพื้นที่จากผลการศึกษาพบว่าค่าเฉลี่ย Water footprint ของปาล์มสำหรับผลิตไบโอดีเซลมีค่าเท่ากับ 2,139 ลูกบาศก์เมตรต่อตันส่วนใหญ่เกิดจากปริมาณการใช้น้ำจากการระเหยของน้ำฝน 50% และเมื่อพิจารณาปริมาณการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่พบว่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณการใช้น้ำสูงถึง 3.9 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ภาคใต้โดยจังหวัดที่ใช้น้ำมากที่สุด คือ พิษณุโลกมีค่าเท่ากับ 6,098 ลูกบาศก์เมตรต่อตันและจังหวัดที่มีการใช้น้ำน้อยที่สุดคือ สุราษฏร์ธานี มีค่าท่ากับ 1,070 ลูกบาศก์เมตรต่อตันดังนั้นแนวทางการลดปริมาณการใช้น้ำที่เกิดขึ้นจึงควรมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยและการพัฒนาระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาด้านพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

 

 

WF Knowledge

www.industry.go.th กระทรวงอุตสาหกรรม
www.oie.go.th สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
http://fic.nfi.or.th ศูนย์ข้อมูลอัจฉริยะสถาบันอาหาร
http://www.nfi.or.th/carbonfootprint/ โครงการ Carbon Footprint
http://www.greenindustry.go.th/
NFI-QR-CODE