จากรายงานบัญชีสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยถึงข้อมูลเชิงสถิติทางด้านการใช้น้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์ตั้งแต่ปีค.ศ.1970 จนกระทั่งปีค.ศ.2011 พบว่ามีการใช้น้ำสูงขึ้น โดยปี ค.ศ.2011 มีการใช้น้ำใต้ดิน 992 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำผิวดิน 15.3 พันล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งร้อยละ 7.5 ของน้ำทั้งหมดจะถูกแปรสภาพให้อยู่ในรูปของน้ำประปาเพื่อภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร โดยมาจากน้ำใต้ดินร้อยละ 72 ของน้ำประปาที่ใช้ทั้งหมดในประเทศ ทั้งนี้การใช้น้ำประปาในประเทศนั้นได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำที่เปลี่ยนไป การใช้เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ และการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทันสมัยต่างๆ คิดเป็นน้ำที่ใช้ในครัวเรือนร้อยละ 66 ของน้ำประปาทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ (G. van d., Veen, 2012) ประกอบกับอัตราการเติบโตของประชากรในประเทศและการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ โดยภาคการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีการใช้น้ำผิวดินต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในปริมาณมากที่สุด ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมทั้งประเทศถึง 12 เท่า แสดงดังภาพที่1
สำหรับระดับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ดังที่ได้กล่าวในเบื้องต้นว่าแนวคิดวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ได้ถูกนำเสนอในปี ค.ศ.2002 โดยศาสตราจารย์ Hoekstra ชาวเนเธอร์แลนด์ (Hoekstra and Hung, 2002) และแนวคิดนี้ก็ได้ถูกพัฒนาเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ทำให้ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการศึกษาเกี่ยวกับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์เป็นจำนวนมาก จากข้อมูลปี ค.ศ.1955 ถึง ค.ศ.1999 ประชากรในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการบริโภคชาและกาแฟเป็นจำนวน 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี (คิดเป็นร้อยละ 37 ของปริมาณน้ำเฉลี่ยรายปี) จึงได้มีการพิจารณาผลกระทบในเชิงของปริมาณน้ำที่ใช้จริงในประเทศหรือที่เรียกว่า “National water footprint” ซึ่งมาจากการใช้น้ำของประชากรในประเทศรวมกับน้ำเสมือนของการนำเข้า (virtual water import) หักลบด้วยน้ำเสมือนของการส่งออก (virtual water export) ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของชาและกาแฟไม่ได้มีการใช้น้ำที่เป็นทรัพยากรภายในประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้นแต่ส่วนใหญ่จะแฝงมาในรูปทรัพยากรน้ำต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศบราซิลและโคลัมเบียในผลิตภัณฑ์กาแฟ และประเทศอินโดนีเซีย จีน และ ศรีลังกา ในผลิตภัณฑ์ชาซึ่งประเทศดังกล่าวนั้นเป็นประเทศที่มีผลิตต้นกาแฟและชาเป็นอันดับต้นๆของโลก ส่งผลให้ประเทศเหล่านั้นมีปริมาณการใช้น้ำสำหรับการเพาะปลูกที่ค่อนข้างสูง แสดงดังตารางที่1 และตารางที่2 (Hoekstra, A. Y. and Chapagain, A. K., 2007)
ภาพที่ 1 ปริมาณการใช้น้ำแยกรายสาขาของประเทศเนเธอร์แลนด์ปี ค.ศ.2005 เทียบกับปี ค.ศ. 2011
แหล่งที่มา : Statistics Netherlands, 2012
ตารางที่ 1 ปริมาณการใช้น้ำในการผลิตต้นกาแฟแต่ละประเทศ
แหล่งที่มา : Hoekstra, A. Y. and Chapagain, A. K.., 2007
ตารางที่ 2 ปริมาณการใช้น้ำในการผลิตต้นกาแฟแต่ละประเทศ
แหล่งที่มา : Hoekstra, A. Y. and Chapagain, A. K.., 2007
สอดคล้องกับข้อมูลในปี ค.ศ.2009 ของ Oel, P.R.V และคณะ ที่ว่าการใช้น้ำของประเทศเนเธอร์แลนด์มาจากภายนอกประเทศมากกว่าภายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งร้อยละ 11 ของค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของประเทศมาจากการใช้น้ำเสมือนภายในประเทศ (internal water footprint) และร้อยละ 89 มาจากการใช้น้ำเสมือนภายนอกประเทศ (external water footprint) โดยพิจารณาหลายภาคส่วน ได้แก่ สินค้าทางการเกษตร สินค้าทางด้านอุตสาหกรรม และการใช้น้ำภาคครัวเรือของประเทศ ทั้งนี้ หากพิจารณาค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์เชิงผลิตภัณฑ์ปริมาณการใช้น้ำจากสินค้าทางการเกษตร สินค้าทางด้านอุตสาหกรรม และการใช้น้ำภาคครัวเรือภายในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 67 ร้อยละ 31 และร้อยละ 2 ตามลำดับ ซึ่งในส่วนของสินค้าทางการเกษตรมาจาก ภาคปศุสัตว์ร้อยละ 31 พืชน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากพืชร้อยละ 12 ผลิตภัณฑ์ชากาแฟร้อยละ 8 ธัญพืชร้อยละ 5 ฝ้ายร้อยละ 4 ผลไม้ร้อยละ 3 และอื่นๆ ร้อยละ 6 รายละเอียดแสดงดังภาพที่2 และตารางที่3 และเมื่อพิจารณาวอเตอร์ฟุตพริ้นท์เฉลี่ยต่อจำนวนประชากรของประเทศเนเธอร์แลนด์จะมีค่าอยู่ที่ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
นอกจากนี้แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นของประเทศเนเธอร์แลนด์ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อทรัพยากรน้ำธรรมชาติเนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์มีการใช้น้ำมากกว่าผลิตภัณฑ์จากธัญพืชหลายเท่าตัว (ค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ แสดงดังตารางที่4) ส่งผลให้วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรกว่า 1 ใน 3 เป็นน้ำที่แฝงอยู่ในการผลิตสินค้าที่ได้จากเนื้อสัตว์ โดยจากการศึกษาพบว่าระดับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ต่อแคลอรี่ของเนื้อวัวคิดเป็น 20 เท่า ของระดับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่มาจากธัญพืช และระดับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ต่อโปรตีนของไข่และเนื้อไก่มากกว่าเมล็ดถั่ว 1.5 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากประสิทธิภาพอาหารสัตว์ที่ยังคงต้องใช้ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบหลัก รวมไปถึงรูปแบบการทำปศุสัตว์ที่แตกต่างกันยังส่งผลต่อค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ไม่เท่ากันโดยการเลี้ยงแบบปล่อยสัตว์ลงแทะเล็ม (grazing system) มีค่าวอเตอร์ฟุตพริ้นท์สีฟ้า และสีเทาต่ำกว่าการเลี้ยงแบบเชิงอุตสาหกรรม (industrial systems) (Mesfin, M.M., และ Hoestra, A.Y., 2012)
ภาพที่ 2 ปริมาณการใช้น้ำในแต่ละภาคส่วนของประเทศเนเธอร์แลนด์
(ประชากร 16.3 ล้านคน ณ ช่วงเวลาปี ค.ศ.1996 ถึง ค.ศ.2005)
แหล่งที่มา : Oel, P.R.V และคณะ, 2009
ตารางที่ 3 ระดับวอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ประเทศเนเธอร์แลนด์
แหล่งที่มา : Oel, P.R.V และคณะ, 2009
ตารางที่ 4.4 วอเตอร์ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และอินเดีย