จากสภาพความแปรปรวนของภูมิอากาศ การเติบโตของประชากรโลก การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตและความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ทรัพยากรน้ำจากธรรมชาติซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มีปริมาณลดลง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องน้ำอย่างรุนแรงในอนาคต จึงเป็นที่มาของคำว่า Water Footprint หรือร่องรอยการใช้น้ำ มีตัวเลขจากองค์การสหประชาชาติยืนยันว่าแม้โลกจะมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 3 ใน 4 ส่วน แต่ประชากร 1 ใน 5 ของโลกกลับขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการบริโภคส่งผลให้มีคนเสียชีวิตจากโรคภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำสะอาดสำหรับการบริโภคถึงปีละ 27 ล้านคน หรือ 1 คนในทุก 8 วินาที สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาเรื่องน้ำกลายเป็นวิกฤติโลก มิใช่เพียงอัตราการเติบโตของประชากรโลกเท่านั้นหากยังเกิดจากการอพยพเข้ามาสู่สังคมเมืองมากขึ้นภาคอุตสาหกรรมเติบโต รูปแบบของการบริโภคก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสัดส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นกว่าการบริโภคพืชผักผลไม้ ซึ่งการผลิตสัตว์นั้นจำเป็นต้องใช้น้ำมากกว่าการผลิตพืชกล่าวคือ การผลิตเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัมใช้น้ำ 3,000 - 15,000 ลิตร ในขณะที่การผลิตข้าว 1 กิโลกรัมใช้น้ำเพียง 1,000 ลิตร อีกทั้งมลพิษทางน้ำที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม อันขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้ความรุนแรงของวิกฤติน้ำเพิ่มสูงขึ้นแนวคิดใหม่ที่นำน้ำเสมือนมาคำนวณด้วยทำให้มองเห็นภาพรวมของ water footprint ในระดับโลกอย่างแท้จริง และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับค่า water footprint ของประเทศไทยสูงถึงอันดับ 3 ของโลก เป็นผลมาจากการใช้น้ำที่ขาดประสิทธิภาพโดยมีการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้า 1 หน่วยสูงมากเมื่อเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้น้ำในการเกษตรสูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตร/คน/ปี ซึ่งเกิดจากการผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญทำให้มีผู้ใช้น้ำเสมือนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ฐานข้อมูลจาก Water Footprint Network ได้มีการประเมินปริมาณการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมทุกๆ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ พบว่า ประเทศไทย มีการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มทุกๆ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 46.8 ลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่อยู่ที่ 43.0 ลูกบาศก์เมตร จัดเป็นอันดับที่ 59 ของโลกที่มีการใช้น้ำมากในภาคอุตสาหกรรม (จากการจัดลำดับ 166 ประเทศทั่วโลก) และจัดเป็นอันดับ 5 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมมาก โดยประเทศในอาเซียนที่ใช้น้ำมากในภาคอุตสาหกรรมเป็นอันดับ 1 ได้แก่ เวียดนาม รองลงมา ได้แก่ สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ และพม่า มีการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่ม ทุกๆ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,350, 595, 295 และ 169 ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ รายละเอียดแสดงในตารางที่ 1
ส่วนประเทศคู่ค้ารายสำคัญของไทยและเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ Water Footprint เช่น อังกฤษ มีการใช้น้ำต่อการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มทุกๆ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4 ลูกบาศก์เมตร เนเธอร์แลนด์ 2.78 ลูกบาศก์เมตร ออสเตรเลีย 3.52 ลูกบาศก์เมตร เกาหลีใต้ 3.93 ลูกบาศก์เมตร และญี่ปุ่น 4.17 ลูกบาศก์เมตร รายละเอียดแสดงในตารางที่ 2