อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย
กรกฎาคม 2563
นมและผลิตภัณฑ์นมจัดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างหนึ่งสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย หากเลือกรับประทานชนิดสินค้าที่ตรงกับความต้องการของร่างกายและในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งนอกเหนือจากนมที่ได้จากสัตว์ เช่น วัว แพะ ควาย แล้ว ในปัจจุบันยังมีนมทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้นมจากสัตว์ นั่นคือ นมจากพืช (plant based milk) เช่น นมถั่วเหลือง นมข้าว นมข้าวโอ๊ต นมข้าวโพด นมอัลมอนด์ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในตลาดไทย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนมพร้อมดื่มและผลิตภัณฑ์นมของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทั้งตลาดโลกและตลาดในประเทศ อาทิ มาตรฐานสินค้า การควบคุมปริมาณและคุณภาพวัตถุดิบน้ำนมดิบ กฎระเบียบการค้า พฤติกรรมการบริโภค และภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
1. การผลิตวัตถุดิบน้ำนม
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ในปี 2562 (ณ วันที่ 1 มกราคม) ประเทศไทยมีการเลี้ยงโคนมจำนวน 691,349 ตัว และเป็นแม่โครีดนมจำนวน 305,676 ตัว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ (รูปที่ 1) เนื่องจากจำนวนลูกโคนมที่เกิดใหม่ในรอบปีและแม่โคสาวที่เข้ามาเป็นแม่โครีดนมทดแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งให้ผลผลิตน้ำนมดิบปริมาณรวม 1,295,348 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการให้นมของแม่โคเฉลี่ย 11.55 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมา (ปี 2558-2562) ปริมาณแม่โครีดนมและผลผลิตน้ำนมในประเทศจะมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแม่โคเหล่านั้นมีอัตราการให้น้ำนมที่ลดลง ส่งผลให้ภาครัฐมีนโยบายพัฒนาคุณภาพน้ำนมโค โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะอาหารที่ใช้เลี้ยงโคนม เพื่อเพิ่มปริมาณการให้น้ำนมดิบและยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบให้สูงขึ้น ประกอบกับการพัฒนาการเลี้ยงโคนมโดยการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นระบบตามมาตรฐานฟาร์มที่ดีและมีประสิทธิภาพในการเลี้ยง รวมถึงการปลดแม่โครีดนมที่ให้ผลผลิตน้อยและสุขภาพไม่ดีออกจากฟาร์ม เพื่อลดต้นทุนการเลี้ยง