Porter’s 5 Forces Model
กันยายน 2564
ในการวิเคราะห์ศักยภาพของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย จะใช้พลังผลักดันในการแข่งขัน (Competitive forces) 5 ประการของ Michael E. Porter มาเป็นหลักการพื้นฐานในการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าอุตสาหกรรมดังกล่าว มีความน่าสนใจในการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่หรือไม่ ซึ่งผลการวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้
1. การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Rivalry among current competitors)
อุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังไทยจัดเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาวะการแข่งขันสูง เนื่องจากมีผู้ผลิตจำนวนมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตรวมในอุตสาหกรรม เป็นผลมาจากข้อจำกัดด้านวัตถุดิบที่ส่วนใหญ่ไม่เพียงพอกับความต้องการของโรงงานแปรรูปและผันผวนไปตามวัฏจักร ทำให้อุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน การออกจากอุตสาหกรรมทำได้ยาก มีการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบที่ได้เปรียบด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย
2. ภัยคุกคามจากผู้ประกอบการรายใหม่ (Threat of New Entrance)
ภัยคุกคามจากการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งขันที่เป็นผู้ประกอบการใหม่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนสูง (High capital requirements) ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความชํานาญในการผลิต ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาแข่งขันรายใหม่ไม่กล้าตัดสินใจเข้ามาลงทุน เพราะต้องเสี่ยงต่อการดำเนินงานที่ไม่คุ้มทุน นอกจากนี้ ผู้ที่เข้ามาทำธุรกิจใหม่จะเสียเปรียบด้านต้นทุนที่ไม่ขึ้นอยู่กับขนาด จากการที่ผู้ผลิตรายเดิมมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบจากการมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบ มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับเกษตรกรและเครือข่ายวัตถุดิบ รวมถึงความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในอุตสาหกรรมอย่างยาวนาน
3. ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitute Products)
ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าพืชอาหารชนิดอื่น ๆ อาทิข้าวโพด กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวฟ่าง จะเป็นสินค้าทดแทนสำคัญที่มีคุณสมบัติตอบสนองความต้องการพื้นฐานได้เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง แต่ด้วยประโยชน์ของมันสำปะหลังที่สามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลาย มีอัตราการให้แป้งหรือพลังงานสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ รวมถึงมีราคาที่มีความผันผวนกว่าพืชทดแทนชนิดอื่น ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่อเนื่องสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ง่าย ดังนั้น มันสำปะหลังจึงมักจะเป็นวัตถุดิบหลักที่ผู้ประกอบการเลือกใช้
4. อำนาจการต่อรองของผู้ขายวัตถุดิบ (Bargaining Power of Suppliers)
ผู้ขายวัตถุดิบหรือซัพพลายเออร์ (Supplier) มีอำนาจต่อรองสูง ปริมาณวัตถุดิบและแหล่งวัตถุดิบที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงานแปรรูป ส่งผลทำให้เกษตรกรกลับมาเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการต่อรองสูง เห็นได้จากเกษตรกรผู้ขายมันสำปะหลังเลือกที่จะขายให้กับโรงงานที่ให้ราคาซื้อสูงกว่าโรงงานอื่น ๆ โดยอำนาจต่อรองของเกษตรกรจะมีมากขึ้นในปีที่ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดน้อย ผลผลิตมีคุณภาพดี และอำนาจต่อรองจะลดต่ำลงในปีที่ผลผลิตมันสำปะหลังออกสู่ตลาดมาก คุณภาพไม่แตกต่างจากผลผลิตที่มีในตลาด
5. อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining Power of Buyers)
ผู้ซื้อ (Buyers) มีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากไทยมีการพึ่งตลาดจีนในสัดส่วนที่สูง เป็นการค้าในลักษณะ Business-to-business (B2B) รูปแบบการซื้อสินค้าต่อครั้งจึงมีปริมาณมาก ข้อมูลที่ลูกค้าได้รับเกี่ยวกับสินค้าและผู้ขายเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ สามารถนำมาใช้เจรจาต่อรองราคาสินค้าและเงื่อนไขการค้าได้ ขณะที่ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าของผู้ผลิตรายอื่น (Switching costs) อยู่ในระดับต่ำ เพราะสินค้าที่ผลิตได้ในท้องตลาดมีคุณภาพไม่ต่างกันมาก ผู้ซื้อสามารถเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งได้หากมีเงื่อนไขจูงใจกว่า