Porter’s 5 Forces Model
กันยายน 2564
ในการวิเคราะห์ศักยภาพของอุตสาหกรรมเนื้อจากพืชของไทย จะใช้พลังผลักดันในการแข่งขัน (Competitive forces) 5 ประการของ Michael E. Porter มาเป็นหลักการพื้นฐานในการวิเคราะห์เพื่อให้ทราบถึงศักยภาพของอุตสาหกรรม รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าอุตสาหกรรมดังกล่าว มีความน่าสนใจในการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหม่หรือไม่ ซึ่งผลการวิเคราะห์สรุปได้ดังนี้
1. การแข่งขันกันภายในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Rivalry among current competitors)
ภัยคุกคามจากการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งขันที่เป็นผู้ประกอบการใหม่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช(ไม่รวมอาหารเจ) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เนื่องจากพืชเพียงไม่กี่รายในตลาด ทำให้ผลิตกำลังส่วนเกินในตลาดมีน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชถือเป็นสินค้าที่มีความเฉพาะตัว มีความหลากหลายแตกต่างกันตามเทคนิควิธีการผลิตแต่ละบริษัท ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาอยู่ในระดับต่ำ
2. ภัยคุกคามจากผู้ประกอบการรายใหม่ (Threat of New Entrance)
ภัยคุกคามจากการเข้าสู่อุตสาหกรรมของคู่แข่งขันที่เป็นผู้ประกอบการใหม่อยู่ในระดับปานกลาง แม้ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการในตลาด แต่เนื่องจากเป็นตลาดใหม่ทำให้มีข้อมูลของตลาดน้อย ประกอบกับผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช โดยเฉพาะเนื้อจากพืช เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนระดับสูง ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรสชาติ เนื้อสัมผัส และกลิ่นให้เหมือนเนื้อสัตว์มากที่สุด ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาแข่งขันรายใหม่ยังไม่กล้าตัดสินใจเข้ามาลงทุน เพราะต้องเสี่ยงต่อการดำเนินงานที่ไม่คุ้มทุน
3. ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitute Products)
ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทนอยู่ในระดับสูง ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชมีสินค้าทดแทนเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเจ หรืออาหารประเภท raw food อาทิ ผัก ผลไม้ และธัญพืชต่าง ๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป หรือกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ได้เช่นกัน ประกอบกับต้นทุนของสินค้าอาหารจากพืชที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคาโดยเปรียบเทียบของสินค้าทดแทนจะต่ำกว่าราคาสินค้าอาหารจากพืชอย่างมีนัยยะสำคัญ จูงใจให้ผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าทดแทนได้ง่าย
4. อำนาจการต่อรองของผู้ขายวัตถุดิบ (Bargaining Power of Suppliers)
ผู้ขายวัตถุดิบหรือซัพพลายเออร์ (Supplier) มีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากการผลิตผลิตภัณฑ์อาดหารจากพืช โดยเฉพาะเนื้อจากพืชต้องใช้วัตถุดิบที่มีความเฉพาะขึ้นกับเทคนิคและวิธีการผลิต ซึ่งวัตถุดิบบางชนิดยังไม่นิยมเพาะปลูกในประเทศไทย ผู้ขายวัตถุดิบมีจำนวนน้อย ปริมาณวัตถุดิบและแหล่งวัตถุดิบมีจำกัด อีกทั้งด้วยความเฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์ทำให้หาวัตถุดิบอื่นทดแทนได้ยากจึงทำให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรองสูง
5. อำนาจการต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining Power of Buyers)
อำนาจการต่อรองของผู้ซื้ออยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช ที่มีความเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็น สี กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัส ทำให้ต้นทุนในการเปลี่ยนไปใช้สินค้าของผู้ผลิตรายอื่น (Switching costs) ของผู้บริโภคอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนไปซื้อสินค้าจากคู่แข่งได้ยาก