การวิเคราะห์ SWOT อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป
มิถุนายน 2561
การวิเคราะห์ SWOT อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูป
จุดแข็ง (STRENGTH : S)
- วัตถุดิบมีคุณภาพและมีปริมาณเพียงพอรองรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม โดยประเทศไทยมีกำลังการผลิตข้าวที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการแปรรูปได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนความหลากหลาย หรือแม้หากเกิดกรณีที่มีการขาดแคลนขึ้น ก็สามารถปลูกเพื่อจัดหาทดแทนได้โดยใช้เวลาไม่นาน
- ผู้ประกอบการมีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการผลิตยาวนาน มีความยืดหยุ่นในเรื่องของการผลิต สามารถนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาช่วยในการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี
- มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็งและมีมาตรฐานรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมแปรรูปข้าวได้ เช่น โรงสีข้าว โรงงานแป้ง ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถแปรรูปสินค้าและต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่ต้องกังวล
- สินค้ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ที่ให้ความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความมีมาตรฐานของสินค้ามากกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน
- มีระเบียบปฏิบัติและกฎหมายในการควบคุมดูแลสินค้าที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวดและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่งผลดีต่อผู้ที่อยู่ในสายโซ่การผลิต รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์อาหารของไทย
จุดอ่อน (WEAKNESS : W)
- ต้นทุนการผลิตสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV ที่เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต แต่ผู้บริโภคยังคงมีกำลังซื้อต่ำและให้ความสำคัญในเรื่องราคา ทำให้สินค้าข้าวแปรรูปของไทยที่มีราคาสูงเสียโอกาสด้านการตลาดเพราะไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าคู่แข่งได้
- ขาดความรู้และความเข้าใจในตลาดเป้าหมาย ส่งผลทำให้ไม่สามารถพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการได้ดีเพียงพอ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มข้าวแปรรูปของไทยที่ผลิตและส่งออกเน้นหนักไปที่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบบไทย (Thai style) ซึ่งเราไม่เคยให้ความสนใจที่จะเรียนรู้และพัฒนาสินค้าในแบบฉบับของตลาดเป้าหมายเท่าใดนัก โดยมีเหตุผลเดิมๆ มาสนับสนุนคือเราไม่เชี่ยวชาญ
- ขาดการวางแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาด ผู้บริโภคในแต่ละประเทศจะมีมาตรฐานด้านรสชาติและความชอบแตกต่างกัน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นสินค้าแบบเดียวกันวางจำหน่ายในทุกๆ ประเทศ นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้บางตลาดประสบความสำเร็จในการขยายตลาด และอีกตลาดกลับล้มเหลว
- ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มสูงรองรับตลาดที่มีกำลังซื้อ โดยมีสาเหตุจากหลายปัจจัย เช่น ไม่มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs ประสบปัญหาขาดแคลนในหลายๆ ด้าน เช่น องค์ความรู้เทคนิคการผลิต ความรู้ทางการตลาด รวมถึงเงินทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
- ขาดการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแป้งข้าวที่มีคุณสมบัติทดแทนแป้งสาลีหรือแป้งชนิดอื่นได้ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ เพื่อลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้า