ภาวะอุตสาหกรรมมะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปของไทย
มิถุนายน 2561
มะพร้าวจัดเป็นหนึ่งในพืชสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งนอกจากจะบริโภคในรูปผลสดและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว และนำรายได้เข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวรายใหญ่ของโลก รองจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเนเธอร์แลนด์ อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงต้องเผชิญปัญหาเกี่ยวกับความไม่เสถียรภาพด้านราคาและปริมาณวัตถุดิบภายในประเทศ
1. การผลิต
- พื้นที่เพาะปลูกและการให้ผลผลิตมะพร้าว
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งสิ้น 1,219,025 ไร่ ซึ่งแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่อยู่ทางภาคใต้และภาคกลาง โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกเกินกว่า 100,000 ไร่ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี และชุมพร มีสัดส่วนร้อยละ 39.2 14.2 และ 9.6 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ ตามลำดับ (รูปที่ 1) นอกจากนี้พบว่ามีปริมาณผลผลิตรวม 1,230,890 ตัน โดยแบ่งเป็นมะพร้าวแก่ 908,966 ตัน มะพร้าวอ่อน 296,650 ตัน และมะพร้าวน้ำตาล 25,274 ตัน ซึ่งจังหวัดที่ให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวแก่มากที่สุด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี สมุทรสงคราม ชุมพร และนครศรีธรรมราช มีสัดส่วนร้อยละ 45.5 12.8 8.7 4.3 และ 3.6 ของปริมาณมะพร้าวแก่ทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ ตามลำดับ ขณะที่มะพร้าวอ่อนจะมีผลผลิตมากที่สุดในจังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา นครปฐม และสงขลา มีสัดส่วนร้อยละ 16.5 5.6 1.9 1.7 และ 1.1 ของปริมาณมะพร้าวอ่อนทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ ตามลำดับ ส่วนมะพร้าวน้ำตาลจะปลูกเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ สมุทรสงคราม เพชรบุรี และราชบุรี โดยจังหวัดสมุทรสงครามให้ผลผลิตมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98.5 ของปริมาณมะพร้าวน้ำตาลทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศ
หากพิจารณาปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ให้ผลมะพร้าว พบว่า ในปี 2559 ประเทศไทยมีผลิตภาพการผลิตมะพร้าวโดยรวมเฉลี่ย อยู่ที่ 1,158 กิโลกรัม/ไร่ โดยกำแพงเพชร มีระดับการให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่สูงสุด อยู่ที่ 6,820 กิโลกรัม/ไร่ แต่หากแยกตามชนิดพันธุ์ พบว่า สกลนคร และสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีปริมาณผลผลิตมะพร้าวแก่และมะพร้าวอ่อนเฉลี่ยต่อพื้นที่สูงสุด อยู่ที่ 11,034 และ 11,835 กิโลกรัม/ไร่ ตามลำดับ