การวิเคราะห์ SWOT Analysis อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรส กรกฎาคม 2560
กรกฎาคม 2560
จุดแข็ง (Strengths)
1. เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ในประเทศและมีผลผลิตตลอดทั้งปี และสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อความต้องการที่มากขึ้นโดยเชื่อมโยงกับประเทศสมาชิกอาเซียน
2. ผู้ประกอบการมีจำนวนมาก ทั้งขนาดเล็ก กลางใหญ่ มีความสามารถในการผลิตตามคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล เพราะมีประสบการณ์อันยาวนานในตลาดที่มีความพิถีพิถันสูง เช่น ญี่ปุ่น EU
3. ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการปรับกระบวนการผลิตเพื่อให้สามารถผลิตชนิดสินค้าที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการที่แตกต่าง
4. อาหารไทยมีภาพลักษณ์ดีในสายตาต่างชาติ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นที่รู้จักทำให้ผู้บริโภคสนใจที่จะปรุงรับประทานเองที่บ้าน ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องปรุงรสจึงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
5. ไทยมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ รวมทั้งมีจำนวนผู้ผลิตสินค้าเดียวกันจำนวนมาก และมีความร่วมมือกันในระดับที่เข้มแข็งจนเกิดเป็นองค์กร/สมาคม ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน
6. ภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระดับต้นๆทุกสมัยทำให้มีนโยบายต่อเนื่องและทุกด้านครอบคลุมตลาดห่วงโซ่การผลิต
จุดอ่อน (Weaknesses)
1. ต้นทุนการผลิตสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจากราคาวัตถุดิบ ค่าแรงงาน และประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดเล็กและกลางทำให้เริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันสำหรับตลาดล่าง
2. ผู้ประกอบการไทยไม่ค่อยใช้ประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีต่าง ๆ ทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการวางแผนผลิตและส่งออก
3. ผู้ประกอบการไทยขาดความสามารถเชิงรุกด้านการตลาด ส่วนใหญ่ต้องการขายสินค้าแล้วจบ ไม่ให้ความสำคัญกับการทำงานแบบพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสการขายแก่คู่ค้า
โอกาส (Opportunities)
1. เครื่องปรุงรสเป็นสินค้าหลักที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต ทั้งในระดับครัวเรือนและธุรกิจบริการอาหาร ทำให้ความต้องการเติบโตสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก
2. การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวไทย ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้ลิมลองอาหารไทย และธุรกิจบริการอาหารไทยในต่างประเทศก็มีร้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้สินค้ากลุ่มเครื่องปรุงรสแบบไทยเติบโตตามไปด้วย
3. ชื่อเสียงอาหารไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ประกอบกับร้านอาหารไทยในต่างประเทศมีบทบาทเผยแพร่วัฒนธรรมและอาหารไทย นำมาซึ่งการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารไทยไปสู่ร้านอาหารไทย และครัวเรือนในต่างประเทศ
4. การขยายตัวของช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่ (Modern Trade) และการค้าออนไลน์ ทำให้สะดวกในการกระจายสินค้าได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้นทั้งในประเทศและทั่วโลก
5. คนรุ่นใหม่เปิดใจในการทดลองอาหารที่ต่างวัฒนธรรม และรสชาติที่โด่งดังของต้มยำกุ้งทำให้มีการนำไปประยุกต์กับอาหารสำเร็จรูปต่าง ๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารไทยจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น
6. การพัฒนาของเทคโนโลยีแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ทำให้เครื่องปรุงรสปรับปรุงรูปแบบให้ง่ายต่อการใช้งานและทันสมัยมากขึ้น
7. สื่อออนไลน์มีต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารทางการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าให้ต่างประเทศรู้จักได้มากขึ้น
อุปสรรค (Threats)
1. ผู้ประกอบการในอาเซียน ซึ่งมีวัฒนธรรมการใช้เครื่องปรุงรสที่ใกล้เคียง มีการผลิตสินค้าลักษณะเดียวกับไทย แต่ราคาต่ำกว่า ทำให้ตลาดระดับล่างผู้ซื้อเริ่มเบี่ยงเบนเลือกสินค้าที่ราคาต่ำกว่า
2. เครื่องปรุงรสของไทยหลายชนิดมีวิธีการปรุงที่ยุ่งยากไม่ตรงกับวิถีที่คุ้นเคยของชาวต่างชาติในหลายภูมิภาค เช่น ชาวอาหรับและเอเชียใต้ที่นิยมเป็นแบบผงปรุงรสใส่ตอนหุงต้มทีเดียวตั้งแต่แรก ผู้ประกอบการไทยจึงควรทำความเข้าใจผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ค้นหาวิธีการปรับใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่คุ้นเคยของผู้บริโภคด้วยมากกว่าขายผลิตภัณฑ์แบบเดิม เพื่อให้อุตสาหกรรมมีพัฒนาการต่อไป