อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสของไทย ปี 2566
มกราคม 2566
“เครื่องปรุงรส” หัวใจสำคัญของอาหารไทย ช่วยชูรสชาติ มีความเป็นเอกลักษณ์ การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสไทย อาศัยฐานการบริโภคในประเทศที่แข็งแกร่ง ก่อนที่จะขยายการส่งออก โดยมีมีแรงผลักดันจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ การขยายตัวของร้านอาหารไทยในต่างประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง
Key Points
- อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสเน้นผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก ปัจจุบันโรงงานผลิตเครื่องปรุงรสในประเทศไทยมีจำนวน 220 โรงงาน กำลังการผลิตเครื่องปรุงรสรวม 60.5 ล้านลิตรต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 88 จำหน่ายภายในประเทศ ส่วนการส่งออกมีสัดส่วนร้อยละ 12 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
- อุตสาหกรรมเครื่องปรุงรสมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากกระแสความต้องการทำอาหารเองที่บ้านและการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)
- ตลาดในประเทศเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.8 ต่อปีในช่วงปี 2564-65 เติบโตเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้า ยกเว้น ยอดขายผงชูรสในรูปแบบดั้งเดิมมีแนวโน้มลดลง และถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับจากกระแสการรักสุขภาพของผู้บริโภค
- ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องปรุงรสอันดับ 6 ของโลก มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5 ปีที่ร้อยละ 7.6 ตลาดส่งออกเครื่องปรุงรสของไทยอยู่ใน 3 ภูมิภาคสำคัญ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 59.1, 23.7 และ 13.5 ของมูลค่าส่งออกรวม ตามลำดับ