การวิเคราะห์ SWOT Analysis กาแฟ มีนาคม 2558
มีนาคม 2558
จุดแข็ง (Strength)
1. ประเทศไทยมีสภาพอากาศ และลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกกาแฟคุณภาพเยี่ยม โดยเฉพาะกาแฟอาราบิก้าเติบโตได้ดีในพื้นที่สูง 1,200 – 1,600 เมตร ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ และเหมาะแก่การส่งเสริมการเพาะปลูกกาแฟอาราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือได้แก่ โครงการวิจัยที่ราบสูง และโครงการหลวงดอยตุง และมีพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่ดี ต้านทานต่อโรคใบไหม้ โรคราน้ำค้างหรือโรคราสนิม
2. ปัจจัยทางด้านการตลาด ได้แก่ ตราสินค้า (Brand) และช่องทางการจัดจาหน่าย เนื่องจาก มีการตั้งชื่อตราสินค้าตามแหล่งเพาะปลูก เช่น กาแฟดอยช้าง กาแฟวาวี เหมือนกับในต่างประเทศ เช่น กาแฟบลูเมาเทน จากจาไมกา นอกจากนี้ช่องทางการจำหน่ายกาแฟอราบิก้าอาศัยรูปแบบการจัดจำหน่ายเอง ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินการ
3. กาแฟอาราบิก้าไทย คุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยผู้ผลิตบางรายได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามี Cup Quality 80-90%
4. การผลิตกาแฟ ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยรัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์กาแฟ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลผลิตด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต สำหรับภาคเอกชนมีการเข้าไปส่งเสริมการปลูกกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือด้วยการให้ความรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต ตลอดจนรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เป็นต้น
5. การผลิตกาแฟในรูปแบบกลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ทำให้มีอำนาจต่อรองสูงกว่าเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรายย่อย อีกทั้งยังสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค และสามารถเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าโดยผ่านเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศ
จุดอ่อน (Weakness)
1. ต้นทุนการผลิตของประเทศไทยค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากขาดเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม และยังทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิตสูง
2. ปัญหาดินเสื่อมสภาพ เนื่องจากสวนกาแฟส่วนใหญ่มีอายุมากแล้ว โดยเฉพาะสวนกาแฟในภาคใต้ นอกจากนี้สวนกาแฟมีสภาพเป็นสวนผสมจำนวนมาก คือมีต้นกาแฟเพียง 80 ต้นต่อไร่ ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ
3. ผลผลิตกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ประกอบกับผลผลิตที่มีคุณภาพยังมีน้อย เนื่องจากจำนวนสวนกาแฟที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการคุณภาพผลผลิต หรือ GAP (Good Agricultural Practice) ยังมีน้อย